ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
ประมงอำเภอทองผาภูมิลงพื้นที่บ้านขนุนคลี่ เก็บตัวอย่างปูเพื่อส่งให้กรมประมงพิสูจน์สายพันธุ์
21 มิ.ย. 2566

ประมงอำเภอทองผาภูมิลงพื้นที่บ้านขนุนคลี่ เก็บตัวอย่างปูเพื่อส่งให้กรมประมงพิสูจน์สายพันธุ์ เบื้องต้นเผยใกล้เคียงปูทูลกระหม่อมแห่งป่าดูนลำพัน แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างหลายจุดเช่นปลายเท้า สีบริเวณหน้าท้องและบริเวณกล้าม ซึ่งมีความเป็นไปได้อาจเป็นปูสายพันธุ์ใหม่

จากกรณีนายจีรพันธ์  ขันแก้ว อายุ 48 ปีชาวบ้าน ม.1 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เกษตรกรชาวสวนยางบ้านขนุนคลี่ ม.4 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจ้าของเฟสบุ๊คGee Khunkaew และ Tik Tok:@ geekhunkaew เผยแพร่คลิปวีดีโอและภาพนิ่งของปูป่าสีสันสวยงาม ที่มีพฤติกรรมธรรมชาติน่าเอ็นดู ทั้งการเคลื่อนไหวด้วยการเดินและวิ่งลงรูในน้ำ สร้างความสนใจให้แก่ผู้ที่พบเห็น พร้อมทั้งให้ข้อมูลของปูว่า น่าจะเป็นปูทูลกระหม่อมบ้าง ปูเจ้าฟ้าบ้าง ปูราชินีบ้าง จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำการศึกษาข้อมูล เพื่อยืนยันสายพันธุ์ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ เนื่องจากปัจจุบันจากการศึกษาพบว่าจำนวนปูที่เคยพบในพื้นที่เริ่มลดลง เนื่องจากสภาพแวดล้อมและวิธีการทำการเกษตรในพื้นที่ที่เปลี่ยนไป การใช้สารเคมีในการเกษตรส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของปู

วันนี้ 20 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจีรพันธ์ ขันแก้ว ได้พานายไพศาล รัตนา ประมงอำเภอทองผาภูมิ(นักวิชาการเจ้าพนักงานประมงชำนาญการ ) ลงพื้นที่ บ้านขนุนคลี่ ม 4 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี พื้นที่ค้นปู ซึ่งเป็นพื้นที่สวนยางของนายจีรพันธ์ ขันแก้ว ที่ได้เก็บพื้นที่ป่าพุ พื้นที่กว่า 7 ไร่ ให้เป็นที่อยู่อาศัยของปูป่าที่ตนเองตั้งใจจะอนุรักษ์ไว้ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีสภาพป่าพุที่สมบูรณ์ มีน้ำซับตลอดทั้งปี มีต้นเตย ต้นเต่าร้าง ต้นหวายป่า และพืชจำพวกต้นเฟริ์น ที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เบื้องต้นพบรูปูกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ พบปูบางตัวบริเวณปากรู ก่อนจะวิ่งลงรูเพื่อเราพยายางจะเข้าไปเก็บภาพ ไม่พบปูออกมาเดินในพื้นที่ เนื่องจากเป็นช่วงที่ไม่มีฝนตก จึงได้ตัดสินใจทำการขุดปูจากรู จำนวนทั้งหมด 4 ตัว เพื่อเป็นตัวอย่างที่จะส่งไปให้นักวิชาการกรมประมง ทำการหาสายพันธุ์ต่อไป

นายไพศาล รัตนา ประมงอำเภอทองผาภูมิ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าปูที่พบในพื้นที่มีลักษณะใกล้เคียงปูทูลกระหม่อม แต่ยังมีจุดที่แตกต่างหลายจุด เช่นบริเวณปลายขาที่ปูทูลกระหม่อมจะเป็นสีขาวทั้ง 4 คู่ แต่ปูที่พบกลับเป็นสีส้ม หน้าท้องปูทูลกระหม่อมเป็นสีส้มเข้มแต่ปูที่นี่หน้าท้องมีสีขาว บริเวณก้ามของปูทูลกระหม่อมจะมีจุดสีแดงเข้ม แต่ปูที่นี่ไม่มี จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นปูสายพันธุ์ใหม่

นายจีรพันธ์ ขันแก้ว ผู้เปิดเผยเรื่องราวของปูป่าที่พบในพื้นที่บ้านขนุนคลี่ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองสนใจและหลงรักปูป่าที่นี่มากนานกว่า 8 ปี แล้วเนื่องจากเป็นปูที่มีสีสันที่สวยงาม มีพฤตกรรมที่น่าสนใจเช่นเวลาเจอคนมันจะชูก้ามขู่เพื่อป้องกันตัว ในอดีตพบปูชนิดนี้ได้ทั่วไปในพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน แต่ปัจจุบันจำนวนปูที่พบมีจำนวนลดลง เนื่องจากการทำการเกษตรที่เริ่มมีการใช้สารเคมีและเครื่องจักรแทนแรงงานมนุษย์  ตนจึงได้ตัดสินใจเก็บพื้นที่ป่าในสวนยางจำนวนกว่า 7 ไร่เพื่อให้เป็นที่อาศัยของปู ปกติในวันที่ฝนตกชุกจนน้ำท่วมรูปู ปูจะออกจากรูมาอาศํยอยู่บนพื้นดิน จึงเป็นช่วงเวลาที่จะพบปูได้เป็นจำนวนมาก ตนจึงทำการถ่ายภาพและคลิปเผยแพร่ในFBและTick Tock ซึ่งได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก จนอยากรู้ว่าปูที่นี่เป็นปูสายพันธุ์ใด จึงทำหนังสือไปยังประมงอำภอทองผาภูมิเพื่อให้เข้ามาช่วยดำเนินการตรวจสอบ สำหรับคนที่สนใจและอยากชมปูสามารถเดินทางมาดูได้ที่บ้านขนุนคลี่ โดยให้คำแนะนำในการมาดูปูว่า “ควรเดินทางมาในวันที่มีฝนตกชุก เนื่องจากปูจะออกมาหากิน จะทำให้มีโอกาสได้เห็นปูจำนวนมาก ที่สำคัญระหว่างเข้าพื้นที่ดูปู ห้ามส่งเสียงดัง เนื่องจากปูชอบความเงียบ

ขณะที่นายวิเชียร ขันแก้ว ชาวบ้านขนุนคลี่  เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าปูชนิดนี้ไม่มีใครจับไปกิน ในอดีตปี พ.ศ 2527 ที่ตนเริ่มเข้ามาทำสวนที่นี่พบปูชนิดนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายและเดือนกรกฏาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีฝนตกชุก จะเห็นปูเต็มไปหมด เนื่องจากรูปูที่เป็นที่อยู่อาศํยจะถูกน้ำท่วม ปัจจุบันจำนวนปู่ที่พบลดลงมาก สาเหตุน่าจะมาจากการทำการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีมากขึ้น  ตนเองรู้สึกดีใจที่จะมีการเข้ามาศึกษา เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ ไม่ว่าผลการศึกษาจะพบว่าเป็นปูทูลกระหม่อมหรือปูชนิดใดก็ตาม

 นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่บ้านขนุนคลี่เป็นที่อยู่อาศัยของปูที่มีสีสันสวยงามชนิดหนึ่งของโลก จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องช่วยการดูแล และอนุรักษ์ให้อยู่คู่ชุมชนเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน และกลุ่มคนที่สนใจต่อไป
 
สำหรับปูทูลกระหม่อม เป็นปูที่มีลักษณะ คือสีของกระดองที่เป็นสีม่วงเปลือกมังคุด บริเวณขอบเบ้าตาขอบกระดอง ขาเดินทั้ง 4 คู่ และก้ามหนีบทั้ง 2 ข้างมีจะเป็นสีเหลืองส้ม ปลายขาข้อสุดท้ายและปลายก้ามหนีบมีสีขาวงาช้าง และขนาดของปูมีความกว้างของกระดองประมาณ 3.5 เซนติเมตร ปูเพศผู้และเพศเมียจะมีลักษณะที่คล้ายกัน โดยจะมีส่วนที่กันคือส่วนท้องหรือที่เรียกว่าตะปิ้ง ไข่ของปูทูลกระหม่อมตัวเมีย มองแล้วคล้ายไข่ปลาแซลมอน ในส่วนการดำรงชีวิตนั้น ปูทูลกระหม่อมจะขุดรูอยู่ในที่ชื้นในบริเวณที่มีต้นไม้ปกคลุมและมีแสงแดดรำไร ความลึกของรูขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดิน จะออกหากินในเวลากลางคืน และจะออกมาดักเหยื่อที่บริเวณรอบๆ ปากรูในรัศมีไม่เกิน 1 เมตร โดยอาหารจะเป็นพืชและสัตว์ เช่น เศษใบไม้ ไส้เดือน แมลงชนิด

ช่วงเวลาผสมพันธุ์ของปูทูลกระหม่อม จะเริ่มมีการผสมพันธุ์เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - เดือนกันยายน ที่จะเป็นช่วงฤดูฝน เเละในฤดูการผสมพันธุ์สีสันของปูทูลกระหม่อมจะเห็นได้เด่นชัดและมีความสวยงามยิ่งขึ้นอีกด้วย หลังจากการผสมพันธุ์ประมาณ 4 เดือน ที่หน้าท้องของตัวเมียจะเริ่มมีไข่ประมาณ 10-35 ฟอง ในช่วงต้นเดือนมกราคมถึงเมษายน ไข่อ่อนเมื่อออกมาใหม่ๆ จะมีสีเหลืองอมส้มมองแล้วคล้ายๆ ไข่ปลาแซลมอน และเมื่อไข่แก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มปนเทาจนเกือบดำ ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายน - เดือนพฤษภาคม และตัวอ่อนจะติดอยู่ที่หน้าท้องแม่ระยะเวลาหนึ่งจนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝน ลูกปูก็จะออกจากท้องแม่และไปขุดรูใหม่อยู่อาศัยเอง สำหรับลักษณะพื้นอยู่อาศัยของปูทูลกระหม่อมนั้น มีสภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ  สำหรับปูทูลกระหม่อมนั้น เป็นปูที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในปูน้ำจืดที่มีสีสันสวยงามชนิดหนึ่งของโลก

ในปี พ.ศ.2536  มีการค้นพบ“ปูทูลกระหม่อม” ครั้งแรก ในพื้นที่"เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน" อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม โดยศาสตราจารย์ไพบูลย์ นัยเนตร อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้พบว่าเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก อีกทั้งในปีดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารีจะทรง เจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา ในฐานะที่พระองค์ ทรงเป็นผู้นำและมีพระปรีชาสามารถในงานด้านวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้กราบทูล ขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนามของพระองค์มาเป็นชื่อของปูน้ำจืดชนิดนี้ และได้รับพระราชทานอนุญาตให้เรียกชื่อปูชนิดนี้ว่า "ปูทูลกระหม่อม" ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นชื่อเรียกของปูชนิดนี้มาจนถึงปัจจุบัน
 

ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์ - รายงาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...