สำนักงานกกพ. ระบุ ค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 นี้ ลดได้อย่างน้อย 20 สตางค์ ปัจจัยต้องจ่ายหนี้ให้กฟผ.ที่ปัจจุบันกว่า 1 แสนล้าน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานกกพ. ได้รับข้อมูลประมาณการณ์คำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว โดยจากปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีตามปกติมาจาก 1. อัตราแลกเปลี่ยน 2. น้ำมันดิบ Brent 3. Pool Gas/ราคา LNG Spot และ 4. Generation Mixed เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากปกติ คือ 1. การคืนภาระหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2. การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามมติ กพช. 3. ปริมาณก๊าซในอ่าวไทย/ก๊าซในเมียนมา/LNG และ 4. ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ตามสถานการณ์โลก ราคาถ่านหิน/น้ำมันเตา/น้ำมันดีเซล เป็นต้น
"การที่ค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้จะลดลงกว่าเดิมนั้น ต้องดูปัจจัยทั้งอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งจะอยู่ระดับที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ ราคา LNG Spot ที่ 13.295 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ส่วนราคาถ่านหินนั้นสูงขึ้น ดังนั้น ตัวแปรสำคัญคือปริมาณก๊าซในอ่าวไทยโดยเฉพาะแหล่งเอราวัณที่กลุ่มปตท. ระบุว่าเดือนก.ค. 2566 จะมีกำลังผลิตที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันที่ระดับ 200 ล้านลูกบาศกก์ฟุตต่อวัน ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้คอนเฟิร์ม"
ทั้งนี้ จากประมาณการณ์ที่ปตท.ส่งมาพบว่าราคา Pool Gas ลดลง -55.5 บาทต่อ MMBTU และหากคืนหนี้ให้กฟผ.ตามที่เคยเสนอมางวดละประมาณ 20,000 ล้านบาทจะทำให้ค่าไฟงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 ลดลงอย่างน้อย 20 สตางค์ต่อหน่วย โดยขณะนี้ สำนักงานกกพ. อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอข้อมูลต่ออนุกรรมการค่าเอฟที ซึ่งคาดว่าจะเข้าพิจารณาต้นเดือนก.ค. 2566 ก่อนจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกกพ. เพื่อสรุปเป็นทางการอีกครั้งต่อสาธารณชนไม่เกินเดือนก.ค. 2566
นายคมกฤช กล่าวว่า แต่สิ่งที่ยังเป็นห่วงคือค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 ที่แนวโน้มราคานำเข้า LNG จะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มสภาพอากาศของยุโรป ก็อาจจะมาเฉลี่ยกับปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยตรงนี้ก็ไม่อาจจะทำให้ค่าไฟลดลง แต่หากจะให้ลดลงมากกว่านี้หรือ 70 สตางค์ต่อหน่วย ก็สามารถทำได้โดยการเปลี่ยนสูตร โดยให้ใช้ก๊าซในราคาเดียวกันหมด (ซิงเกิล พลู) ที่ให้คิดว่าทุกคนใช้ก๊าซเดียวกัน
โดยขณะนี้ สำนักงานกกพ. ก็ได้เสนอแนวทางนี้ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน พิจารณา ซึ่งอาจจะต้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ