สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผนึกกำลัง สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ครั้งแรกในการรวม 3 หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมตั้งเป้าพลิกโฉมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การผลิตสิ่งทอเพื่อความยั่งยืน จึงนับเป็นสิ่งสำคัญและอาจกลายเป็นจุดแข็งสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอในอนาคต จากปัจจัยบวกในเรื่องของความหลากหลายทาง ชีวภาพ การใช้วัตถุดิบธรรมชาติในการผลิต และความสามารถของผู้ผลิตในประเทศในการผลิตสิ่งทอจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุรีไซเคิล การพัฒนาของอุตสาหกรรมสิ่งทอในระยะต่อไปจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ และร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม New S-Curve โดยหนึ่งในแนวทางการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การเปลี่ยน รูปแบบธุรกิจ จากผู้รับจ้างผลิตสินค้า (Original Equipment Manufacture: OEM) เป็นผู้ออกแบบ และรับจ้างผลิตตามที่ตลาดต้องการ (Original Design Manufacture: ODM) หรือการนำไปสู่ การผลิตสินค้าในนามแบรนด์ของตัวเองออกมาจำหน่าย (Original Brand Manufacture: OBM) และการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้สอดคล้องกับโครงสร้างของปัจจัยการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีการผลิตและระบบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งภาคการผลิตจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการผลิตและรับรู้แนวโน้มความต้องการของตลาดเพื่อวางแผนการผลิตให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ในอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
จากความสำคัญดังกล่าว สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงได้ประสานความร่วมมือ กับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งมีพันธกิจ ยกระดับขีดความสามารถด้วยการ สร้างความสามารถให้บุคลากรและองค์กร ยกระดับผลิตภาพของธุรกิจ สร้างความเข้มแข็งระบบนวัตกรรม สร้างความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์และบริการของไทยด้วยคุณภาพ มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนของประเทศไทยผ่านการเพิ่มผลิตภาพ และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ซึ่งมีพันธกิจในการช่วยสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีการเติบโต พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและองค์กร อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ด้วยการให้บริการด้านข้อมูลและองค์ความรู้ การฝึกอบรม การพัฒนามาตรฐาน และการตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานไอเอสโอและมาตรฐานระบบอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพของอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถด้านการรับรองของประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ สู่ความเป็นเลิศด้านความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน โดยทั้ง 3 สถาบันนั้น เป็นหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การดูแลของอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เปลี่ยนผ่านจาก OEM ไปสู่
ODM และ OBM พร้อมนำไปสู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืนภายใต้ สถานการณ์โลกในปัจจุบัน นับเป็นประเด็นสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน พร้อมเร่งเพิ่มศักยภาพทั้งในมิติด้านเทคโนโลยีการผลิตและระบบคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้มาตรฐานในระดับสากล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอนาคต
สำหรับสถานการณ์ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 4 เดือน (เดือนมกราคม-เมษายน 2566) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่ารวม 1,982.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) 4 เดือนของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่ารวม 1,679.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.6 และส่งผลให้ภาพรวมเกิดดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 303.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ.