ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สธ. หนุนโรงพยาบาลร้อยเอ็ดผ่าตัดรูปแบบใหม่ ส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่วันเดียว ไม่นอนค้าง
11 ส.ค. 2560

       ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการผ่าตัดรูปแบบใหม่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ วันเดียวกลับบ้านได้ไม่นอนค้าง ช่วยลดคิวรอผ่าตัด ลดแออัดในโรงพยาบาล เตรียมขยายให้ครอบคลุมเพิ่มเติมในโรคมะเร็งชนิดต่างๆ

      นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโครงการรณรงค์ผ่าตัดรูปแบบใหม่ ส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่วันเดียวไม่นอนค้าง (One Day Surgery) ว่า ปัจจุบันแนวโน้มผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคมะเร็ง นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรลำดับต้นๆของประเทศ  โดยปัจจุบันอัตราการเติบโตของผู้ป่วยมะเร็งยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี  ผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลไปถึงระยะเวลารอรับบริการ เกิดความแออัดในโรงพยาบาล  รวมทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูง

     ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุข โรงพยาบาลร้อยเอ็ดจึงได้มีระบบการให้บริการผ่าตัดและระงับความรู้สึก แบบวันเดียวกลับบ้านได้ ผู้ป่วยไม่ต้องค้างคืน เริ่มในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ทำหัตถการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscopy) ถ้าพบก้อนผิดปกติสามารถตัดออกและส่งชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรคได้ มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 600-700 รายต่อปี มีเตียงให้บริการ 8 เตียง รองรับผู้ป่วยได้ 1,500 รายต่อปี โดยผู้รับบริการได้รับการบริการตามมาตรฐาน แต่ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่าย ลดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอคิวการผ่าตัดนาน โรงพยาบาลสามารถลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาล  ซึ่งต้นทุนการทำผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอกน้อยกว่า 2,500 บาทต่อราย ส่วนแบบผู้ป่วยในต้นทุน 7,461 บาทต่อราย

    สำหรับการผ่าตัดรูปแบบใหม่ วันเดียวกลับ คือการให้ผู้ป่วยเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดที่บ้านและมารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล หลังพักฟื้นจากการผ่าตัดไม่กี่ชั่วโมงสามารถช่วยเหลือตัวเอง และกลับบ้านได้ในวันเดียวหรืออยู่ในโรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง  ซึ่งจะช่วยลดเวลานอนในโรงพยาบาล ลดการติดเชื้อของแผลผ่าตัดและลดการติดเชื้อในโรงพยาบาล ลดภาระค่าใช้จ่ายและการเสียรายได้ของผู้ป่วยและญาติระหว่างมาโรงพยาบาล ช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศ รวมทั้งช่วยลดระยะเวลารอคอยผ่าตัด ทำให้โรงพยาบาลผ่าตัดผู้ป่วยได้มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องใช้เตียงเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ไม่ต้องรอเตียงว่าง ลดความแออัดในโรงพยาบาล มีเตียงรองรับผู้ป่วยผ่าตัดฉุกเฉินหรือโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งการผ่าตัดรูปแบบนี้เป็นที่นิยมในต่างประเทศและทำมานานกว่า 40 ปี

   ทั้งนี้ โรงพยาบาลร้อยเอ็ดได้วางแผนขยายบริการเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ป่วย เนื้องอกกระเพาะอาหาร เนื้องอกต่อมลูกหมาก เส้นเอ็นบาดเจ็บ เป็นต้น เป็นการพัฒนาศูนย์โรคมะเร็งแบบครบวงจร ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ปลอดภัยมีคุณภาพตามมาตรฐาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...