วงประชุม 8 พรรคร่วม แจงคืบหน้า 3 คณะทำงานชุดเปลี่ยนผ่าน เดินหน้าแก้ปัญหาค่าครองชีพ ช่วยเหลือปชช.
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 2 กรกฎาคม ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อในฐานะหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงผลการประชุมของคณะทำงานประสานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในช่วง 46 วันที่ผ่านมา ของทั้ง 14 คณะ ซึ่งมีความคืบหน้าของคณะทำงาน 3 คณะ ได้แก่ 1.คณะทำงานด้านพลังงาน ได้ประชุมในเรื่องราคาน้ำมันดีเซล ที่มีโอกาสจะขึ้นราคา 5 บาท ในวันที่ 20 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งเราเข้าใจว่ายังอยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการอยู่ เราจึงพิจารณาอย่างระมัดระวัง ดูทั้งข้อดีข้อเสีย ผลกระทบต่อสถานะกองทุกต่างๆ รวมถึงราคาเนื้อน้ำมันและแก๊สจากต่างประเทศ ทั้งนี้ได้มีความเห็นตรงกันทั้ง 8 พรรค ว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะขึ้นราคาน้ำมันดีเซลในขณะนี้ และสามารถที่จะเลื่อนการตัดสินใจในกรณีนี้ไปได้ก่อน ในเรื่องของค่าไฟฟ้า ค่า ft ตามที่มีกระแสข่าวว่า จะมีการลดค่าไฟ 50-70 สตางค์ ผ่านทางกลไกต่างๆ ได้ และการนำเสนอการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรม เพื่อหาสมดุลระหว่างราคาพลังงานกับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยการพิจารณาเรื่องข้างต้นเป็นไปได้ด้วยดี มีเอกภาพในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชน
2. คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ ดิจิทัลและสังคม โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีการนำเสนอให้มีการตั้งวอร์รูม ที่จะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ DSI เพื่อรับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหาที่เกิดจากคอลเซ็นเตอร์ สแกมเมอร์ต่างๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน ในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ต มีแนวคิดเปลี่ยน “เน็ตประชารัฐ” เป็น “เน็ตประชาชน” ซึ่งไม่ได้แตกต่างเพียงชื่อ แต่แตกต่างในเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เพื่อให้ราคาถูกลงและมีความเสถียรมากขึ้น พร้อมย้ำว่า ไม่ได้ทำเพื่อแข่งขันกับภาคเอกชนแต่อย่างใด แต่ทำเพื่อให้ประชาชนคนกลุ่มน้อยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็มีการนำเสนอในเรื่อง ดิจิทัล ไอดี ที่จะถูกนำมาใช้ในด้านบริการสาธารณสุขและด้านการศึกษา ทั้งข้อมูลการแพทย์ ยา การรักษา ที่จะนำมารวมไว้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันเพื่อให้สะดวกต่อการรักษา อีกทั้ง ยังสามารถลดปัญหาการคอร์รัปชันด้วย
3. คณะทำงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน ที่มีความกังวลใจเนื่องจากหากมองสภาพเศรษฐกิจของทั้งในและนอกประเทศ ที่มีการส่งออกลดลงต่อเนื่องนั้น เราจะใช้ประโยชน์ จาก FTA ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว 14 ฉบับ ขณะเดียวกันเราก็ต้องเปิดตลาดใหม่ และพยายามทำให้เกิด FTA ใหม่ๆ เพื่อหาตลาดให้เอสเอ็มอีและพี่น้องประชาชน
ส่วนของหนี้ครัวเรือน คณะทำงานได้เสนอ 2 ข้อด้วยกัน คือ 1.หนี้กองทุนการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหนี้ข้าราชการ รวมทั้งหมดจะกระทบกับประชาชนทั้งหมด 14 ล้านคน ในเรื่องของหนี้ กยศ. ซึ่งตัวกฎหมายนั้นผ่านแล้วแต่ยังไม่มีการบังคับใช้ จะมีการบังคับใช้โดยเร็วที่สุด การสร้างแรงจูงใจในเรื่องของค่าปรับดอกเบี้ยหากชำระตรงเวลา จาก 0.5 เปอร์เซ็นต์ ลดเหลือ 0.25 เปอร์เซ็นต์ และเน้นหักที่เงินต้นมากกว่าดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาให้แก่พี่น้องประชาชนที่มีปัญหาในเรื่องหนี้ กยศ. รวมถึงการปรับโครงสร้างในเรื่องระยะเวลาของการผ่อน สำหรับหนี้ข้าราชการก็เช่นกัน ซึ่งมีความน่ากังวลพอสมควรเพราะว่า มีข้าราชการจำนวนมากถึง 3-4 ล้านคน ได้รับผลกระทบ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากคณะกรรมการที่สำรวจมาทั้งข้าราชการครูและตำรวจ เมื่อได้รับเงินเดือนมาก็ถูกหักเงินจากบัญชีเพื่อใช้หนี้สหกรณ์ ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะมีเงินเดือนมากพอในการใช้ชีวิต ซึ่งในกลุ่มข้าราชการตำรวจมีอยู่จำนวนประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์ โดยเราเสนอว่าให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้ทำข้อมูลนี้ และมีการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นทั้งรายได้ที่เป็นเงินเดือน หรือจะกำหนดให้เป็นเปอร์เซ็นต์ โดยไม่ว่าจะเหลือเงินเดือนเท่าไหร่ก็ตาม จะต้องเหลือเงินอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้
ขณะเดียวกันมีการปรับโครงสร้างคล้ายกันกับหนี้กยศ. มีการยืดระยะเวลามากขึ้นเพิ่มแรงจูงใจในการชำระหนี้ อาทิ หากชำระหนี้เร็วจะมีการลดดอกเบี้ยโดยการหักหนี้ที่เงินต้นมากกว่าการหักที่ดอกเบี้ย ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องปกติของภาคเอกชน การบริหารจัดการหนี้ก็เป็นประมาณนี้ ตนคิดว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรมหรือวิธีการในการบริหารหนี้สินแต่อย่างใด ซึ่งพี่น้องข้าราชการก็ควรที่จะได้รับการบริหารหนี้เช่นเดียวกัน
และส่วนของเอสเอ็มอีนั้นต้องมีการกระตุ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นหวยเอสเอ็มอีในระยะสั้น หรือการตั้งสภาเอสเอ็มอีในการกระตุ้นระยะยาว ในการบริหารระหว่างรัฐบาลและเอกชนเพื่อฟังเสียงของพี่น้องชาวเอสเอ็มอี ไม่ใช่เพียงแค่การฟังเสียงของสภาอุตสาหกรรมฯ หรือหอการค้าฯ ซึ่งจะเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่