กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าการพัฒนาสับปะรดไทย เตรียมตั้งคณะทำงานจัดทำร่างกฎหมายพืชสับปะรด หนุนสร้างอาชีพมั่นคง และยั่งยืน
นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประยูร อินสกุล) ให้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรด ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม 134 – 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมชาวไร่สับปะรดไทย (ภาคตะวันออก และภาคเหนือ) สมาคมพัฒนาสับปะรดไทยภาคตะวันออก และสภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้าร่วม ว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 - 2570 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 มีวิสัยทัศน์ คือ “ศูนย์กลางระดับโลกในการผลิต แปรรูป และสร้างคุณค่า มูลค่าทางเศรษฐกิจจากสับปะรดอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมาย 1) พื้นที่ปลูกที่ได้รับการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากนโยบายภาครัฐ โดยระบบน้ำเพิ่มขึ้น 1,000 ไร่ต่อปี จำนวนแปลงสับปะรดที่ผ่านการตรวจรับรอง GAP เพิ่มขึ้นร้อยละ 92 และปรับพื้นที่ตาม Agri-map เพิ่มขึ้น 2,000 ไร่ ต่อปี 2) ผลิตภาพการผลิต (Productivity) ในอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรดเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี 3) มูลค่าการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรด เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 1.5 ต่อปี (จากปี 2565 จำนวน 23,700 ล้านบาทต่อปี) และ 4) รายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี (จากปี 2565 จำนวน 330,700 บาทต่อปี) พร้อมทั้งมอบหมายคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรด กำกับดูแลการดำเนินงาน และให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตาม (ร่าง) แผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 - 2570 ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็น รวม 32 โครงการ 16 กิจกรรม ได้แก่ ประเด็นที่ 1. การพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และการบริหารจัดการระบบนิเวศสับปะรดที่มีคุณภาพ ทันสมัย และมาตรฐานการจัดการที่ยั่งยืน ประเด็นที่ 2. การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และเทคโนโลยีการแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ และประเด็นที่ 3. การเสริมสร้างขีดความสามารถในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสับปะรดคุณภาพระดับโลกนั้น
ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานโครงการภายใต้ (ร่าง) แผนพัฒนาสับปะรดฯ ปีงบประมาณ 2566 มีทั้งหมด 20 โครงการ 16 กิจกรรม บรรลุเป้าหมายแล้ว 7 โครงการ 2 กิจกรรม อาทิ โครงการตรวจรับรองแปลง GAP สับปะรด โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ / กิจกรรมพัฒนากลุ่มเกษตรตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (สับปะรด) โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร / กิจกรรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ระบบรับรองมาตรฐาน GAP (สับปะรด) โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน / กิจกรรมพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ (ปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่เดียวกัน) และกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดคุณภาพ เป็นต้น และอยู่ระหว่างดำเนินการ 13 โครงการ 14 กิจกรรม นอกจากนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนพัฒนาสับปะรดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมจึงเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรด โดยมอบหมายฝ่ายเลขาแต่ละด้าน ติดตามผลการดำเนินการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรายงานผลทุกไตรมาส เพื่อรวบรวมเสนอฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ทราบต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายพืชสับปะรด เพื่อหาแนวทางในการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมาย ที่ใช้กำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมสับปะรดของประเทศไทย โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สมาคมชาวไร่สับปะรดไทย สมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย สมาคมพัฒนาสับปะรดไทยภาคตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น และมอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ เสนอปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรดลงนามต่อไป
สำหรับสถานการณ์การผลิตสับปะรดในปี 2566 คาดว่ามีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 385,646 ไร่ ผลผลิตรวม 1.454 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,771 กิโลกรัม ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 13.78 ร้อยละ 15.16 และร้อยละ 1.59 ตามลำดับ เนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลง เนื่องจากเกษตรกรได้ลดพื้นที่ปลูก จากปัญหาต้นทุน ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยและสารเคมี และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่ ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น จังหวัดที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวสับปะรดโรงงานมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ 146,980 ไร่ (38.11%) ราชบุรี 26,783 ไร่ (6.95%) พิษณุโลก 24,707 ไร่ (6.41%) ระยอง 19,806 ไร่ (5.14%) และเชียงราย 19,605 ไร่ (5.08%) คาดว่าปี 2566 ผลผลิตออกมากช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน ประมาณ 545,000 ล้านตัน และช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม ประมาณ 347,000 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตสับปะรด ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 - 80 ของผลผลิตทั้งหมด จะเข้าสู่โรงงานแปรรูปเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2566 (เดือนมกราคม – มิถุนายน) แบ่งเป็น 1) สับปะรดที่ส่งเข้าโรงงาน ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.62 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 6.26 บาท คิดเป็นร้อยละ 21.73 และ 2) สับปะรดที่ใช้บริโภค เฉลี่ยกิโลกรัมละ 11.14 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 9.57 บาท คิดเป็นร้อยละ 16.41 (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2566)
ข้อมูลการส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดปี 2566 (เดือนมกราคม – พฤษภาคม) พบว่า สับปะรดกระป๋อง ประเทศที่ไทยส่งออกหลักอันดับหนึ่ง คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 1,438 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ เยอรมนี มูลค่า 273 ล้านบาท และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มูลค่า 235 ล้านบาท และน้ำสับปะรด ประเทศที่ไทยส่งออกหลักอันดับหนึ่ง คือ เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 315 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 268 ล้านบาท และอิหร่าน มูลค่า 142 ล้านบาท