ESG Today โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด
กับดักในรายงาน ESG
Greenwashing, Greenhushing, Greenwishing
ผู้บริหารด้าน ESG ของบิ๊กโฟร์ KPMG ที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ: Rob Fisher, Maura Hodge และ Bridget Beal เขียนเตือนนักลงทุน และผู้ที่ใช้ข้อมูลจากรายงาน ESG ของธุรกิจว่า อย่าตกเป็นเหยื่อของ 3 กับดักในรายงาน ESG
จากบริษัทชั้นนําที่มุ่งมั่นสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ไปจนถึงหน่วยงานระดับชาติและระดับนานาชาติ ที่สร้างมาตรฐานและมีข้อบังคับการรายงานในหัวข้อ ESG ที่เข้มข้น กําลังกลายเป็นบรรทัดฐานอย่างรวดเร็วของการทําธุรกิจในปี 2023 ด้วยแนวโน้มนี้ นักลงทุนจึงได้เห็นมุมมองใหม่เกี่ยวกับผลกระทบที่การดำเนินงานของบริษัทมีต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่สิ่งแวดล้อมมีต่อการดําเนินงานของบริษัท นอกจากนั้น กรอบการรายงาน ESG ล่าสุดที่ผสมผสานแนวทางการเปิดเผยข้อมูล ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ทำให้การรายงาน ESG เริ่มมีลักษณะคล้ายกับการรายงานทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม รายงานงบการเงินต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มีการควบคุมที่เข้มงวด มีความสอดคล้องและความถูกต้อง ทั้งการเปรียบเทียบข้อมูล และการเปิดเผยข้อมูล แต่รายงาน ESG ยังไม่ต้องใช้มาตรฐานที่เข้มงวดเช่นนั้น จึงเป็นผลให้เกิดความแตกต่างขึ้นได้ระหว่างสิ่งที่บริษัทอ้างว่ากําลังทํา กับสิ่งที่บริษัทกําลังทําอยู่จริง และแม้ว่าบริษัทจะไม่ได้ตั้งใจ แต่ความคลาดเคลื่อนนี้มีผลกระทบต่อนักลงทุน ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆที่พึ่งพาข้อมูล ESG ในการตัดสินใจ
ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “Greenwashing” "Greenhushing" และ "Greenwishing" ที่สร้างความเสี่ยงต่อชื่อเสียงและโอกาสทางธุรกิจของบริษัท ที่แสดงอยู่ในผลการดำเนินงานทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการดำเนินการเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ต้นทุนของบริษัทสูงขึ้น
Greenwashing เป็นวิธีปฏิบัติที่ธุรกิจใช้เพื่อแสดงตนว่ามีความยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่ทําให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ หรือการติดฉลาก "สีเขียว" Greenwashing มีความหมายรวมถึง การหลอกลวงหรือบิดเบือนในขณะนั้น ไปจนถึง ความคิดที่ปรารถนาจะทำ ซึ่งเมื่อสังคมรับรู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้นจริง Greenwashing จะลดทอนความไว้วางใจต่อธุรกิจลง และอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสําคัญ
Greenhushing หมายถึงการที่บริษัทปฏิเสธที่จะเผยแพร่ข้อมูล ESG ซึ่งอาจเป็นเพราะเกรงอิทธิพลของผู้มีส่วนได้เสียที่จะล่วงรู้ว่า บริษัทไม่ได้ดำเนินการเพียงพอเพื่อให้เกิดความยั่งยืน หรือจากนักลงทุนที่เชื่อว่า ESG ทำให้บริษัทมีผลตอบแทนทางการเงินน้อยลง ส่งผลให้บริษัทมีการจํากัดปริมาณและคุณภาพของข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เกิดความไม่โปร่งใสจนกลายเป็นความท้าทายในการวิเคราะห์สถานภาพแท้จริงของบริษัท
Greenwishing หมายถึงการทำ Greenwashing โดยไม่ได้ตั้งใจ ในลักษณะที่บริษัทเปิดเผยความมุ่งหวังว่าจะปฏิบัติตามข้อผูกพันด้านความยั่งยืนบางอย่าง แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีทีท่าจะทําเช่นนั้น หรืออีกลักษณะหนึ่ง คือการขับเคลื่อนองค์กรด้วยความกดดันในการกําหนดเป้าหมายความยั่งยืนที่ทะเยอทะยาน หรือมีความมุ่งมั่นกับเป้าหมายที่ไม่สามารถบรรลุได้จริง ที่อาจเป็นเพราะ ข้อจํากัดทางการเงิน ทางเทคโนโลยี หรือตัวองค์กรเอง ความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ สามารถทําลายความไว้วางใจในบริษัทและในระบบที่กว้างขึ้นได้
เป็นเรื่องง่ายที่ผู้มีส่วนได้เสีย หรือแม้แต่บริษัทเอง จะตกเป็นเหยื่อของ 3 กับดักนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถดําเนินการเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ ในขณะที่ยังคงใช้ประโยชน์จากโอกาสการดำเนินการ ESG ได้ ดังนี้
1. รักษาผลการดำเนินงานด้านการกํากับดูแล ESG ที่ดีให้แข็งแกร่ง เริ่มต้นด้วยฝ่ายบริหารและคณะกรรมการต้องเชื่อในประโยชน์ของ ESG อย่างแท้จริง และพิจารณาผนวก ESG ไว้ในขั้นตอน และการบริหารความเสี่ยงทั้งใหม่และที่มีอยู่เดิม
2. จัดโปรแกรมพัฒนาทักษะคณะกรรมการ ผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับพื้นฐานของ ESG ความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้อง สร้างความเข้าใจถึงความท้าทายที่เกี่ยวกับการกําหนดเป้าหมาย ESG และการรายงานอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ติดตามกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเข้าใจว่าการปฏิบัติตามกฎใหม่ และที่มีอยู่จะช่วยจัดการกับความเสี่ยงของการรายงานที่ไม่เหมาะสม และสุดท้ายหากยังมีข้อสงสัย
ให้ท่องมนต์ "ทําในสิ่งที่คุณพูด พูดในสิ่งที่คุณทํา"