ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ตะลึง เหล็ก SKY ได้ มอก.ในยุคปลัดกระทรวงอุตฯ นั่งเลขา สมอ.
26 เม.ย. 2568

แกะร่องรอย ตึก “สตง.ถล่ม” ถึง “เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน”

ตะลึง เหล็ก SKY ได้ มอก.ในยุคปลัดกระทรวงอุตฯ นั่งเลขา สมอ.

 

โศกนาฏกรรม ตึก สตง. 30 ชั้น มูลค่า 2.1 พันล้าน “ถล่ม” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 เป็นความเสียหายขนาดใหญ่หนึ่งเดียวในเมืองหลวงของไทย จากเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ประเทศเมียนมา ที่ห่างจากกรุงเทพมหานครของไทยกว่า 1,100 กิโลเมตร

ก่อให้เกิดปมปัญหาคำถามขึ้นมากมาย...?

และแต่ละเรื่องก็เกี่ยวพันไปถึงความไม่ชอบมาพากลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใสในการประมูล การออกแบบ การคุมงาน จนมาถึงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง !!!

 “เหล็ก” คือวัสดุประเภทแรกที่ถูกตั้งข้อสงสัย ...?

โดยหลังเกิดเหตุตึกถล่มได้ไม่กี่วัน สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย หรือ ไอทีเอสไอ (ITSI) เข้าตรวจสอบเหล็กตัวอย่างที่เก็บจากซากอาคาร สตง. ถล่ม พบ เหล็กที่ใช้ก่อสร้างอาคารนั้น มีบางส่วนไม่ได้มาตรฐาน โดยค่าที่ต่ำกว่ามาตรฐานคือ มวลของเหล็ก (น้ำหนักต่อเมตร) และความต้านแรงดึง

  • พบเหล็กจาก “ซิน เคอ หยวน” ตกมาตรฐาน

และเหล็กที่ตกมาตรฐานดังกล่าว มาจาก บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY) ที่มี "คนจีน" ถือครองหุ้นใหญ่ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2554 ทุนปัจจุบัน 1,530,000,000 บาท (ราว 1.53 พันล้านบาท) วัตถุประสงค์ โรงงานผลิตเหล็ก ตั้งอยู่ที่ 170 หมู่ที่ 3 ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง มีกรรมการ 3 คน คือ นายเจี้ยนฉี เฉิน นายสู้ หลงเฉิน นายสมพัน ปันแก้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเคยสั่งปิด “ซิน เคอ หยวน” ชั่วคราวไปแล้ว เมื่อเดือน ธ.ค. 2567 หลังเกิดเหตุไฟไหม้ในโรงงานที่ จ.ระยอง พร้อมกับอายัดเหล็กจำนวนหนึ่งที่ไม่ผ่านมาตรฐานไว้ด้วย

และสถานะปัจจุบันของ “ซิน เคอ หยวน” ก็คือถูกสั่งพักใบอนุญาตฯ ห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย สินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน ตามมาตรา 40 ไปเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2568 เนื่องจากบริษัทสัญชาติจีนรายนี้ มีปัญหาเรื่องมาตรฐานเหล็กมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

และเป็นหนึ่งในมาตรการยาแรงของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการจัดการปัญหา “อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ” ที่ไม่สร้างรายได้ให้กับประเทศ

 

  • บุกรวบอีก 2 โรงงาน ลักลอบผลิต

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้บุกรวบอีก 2 โรงงาน ที่ศรีราชา เหตุลอบผลิตเหล็กแบบ Induction Furnace หรือ IF หลังเคยสั่งระงับกิจการไปแล้ว โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งให้ทีมตรวจ “สุดซอย” การกระทรวงฯ เข้าตรวจสอบ “บริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป จำกัด” ที่ ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นบริษัทไทย-ทุนจีน โดยมี “บริษัท เถิง เฟิง สตีล จำกัด” เป็นผู้ลงทุนและมีสำนักงานอยู่ในบริเวณเดียวกัน

“ได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบและยึดอายัดเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ได้ทั้งหมด 7,433 ตัน มูลค่ากว่า 148.67 ล้านบาท พร้อมดำเนินคดีฐานทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีโทษความผิดฐานทำผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากยังโอนเปลี่ยนใบอนุญาตไม่แล้วเสร็จ ตามข้อมูลเชิงลึกที่ตรวจสอบมาด้วย” นายเอกนัฏ กล่าว

ขณะที่ นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่ากากระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา ทีม “สุดซอย” ยึดอายัดเหล็กได้ทั้งหมดมูลค่ารวม 384.4 ล้านบาท ล้วนแล้วเป็นแต่เหล็กเส้น IF สำหรับงานก่อสร้าง ผลิตจากเทคโนโลยีเตาหลอมอินดักชั่นทั้งสิ้น

จึงเชื่อได้ว่า เป็นเหตุสำคัญทำให้เนื้อเหล็กไม่ได้คุณภาพ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีข้อสั่งการให้เสนอวาระเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เพื่อพิจารณายกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ต่อไป เนื่องจากการหลอมเหล็กแบบ IF ไม่สามารถควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ได้ เป็นเหตุสำคัญทำให้เหล็กตกคุณภาพ เช่นกรณี บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY)

  • จีนโล๊ะการผลิตแบบ IF แต่ไทยกลับอ้าแขนรับ

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเหล็ก ระบุว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงมาหลายปีแล้ว โดยได้รับผลกระทบจากเหล็กจีน ทั้งการทุ่มตลาดเข้ามา และการย้ายฐานการผลิตเหล็กแบบ Induction Furnace (IF) ซึ่งเป็นเตาประเภทที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และในประเทศจีนไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว เข้ามายังไทย กระทบต่อโรงงานเหล็กในไทยที่ใช้เตาหลอมแบบ Electric Arc Furnace (EAF) ซึ่งมีต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้เหล็กไทยเสียเปรียบในด้านราคา

ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ซิน เคอ หยวน” ที่รุกเข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศไทย ท่ามกลางเสียงต้านอย่างหนัก เนื่องจากมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) เดิมถูกระบุไว้ชัดเจนว่า การผลิตเหล็กเส้นจะต้องมาจากบิลเล็ต (วัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้น) ที่ผลิตมาจากเตาหลอมด้วยเตาชนิดอาร์คไฟฟ้าหรือ EAF เท่านั้น

จนมีการพูดถึงการนำไปสู่การวิ่ง “ล็อบบี้” แก้ไขมาตรฐานดังกล่าวในเวลาต่อมา !!!?

นายพงษ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ตั้งข้อสังเกตว่า การที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นำเหล็กที่มาจากการหลอมเศษเหล็กด้วยระบบ IF กับเหล็กที่มาจากเตาหลอมด้วยเตาชนิดอาร์คไฟฟ้าหรือ EAF มาอยู่ใน มอก.เลขเดียวกัน เล่มเดียวกันที่เป็นเหล็กเส้นกลมเหล็กข้ออ้อยในงานคอนกรีตเสริมเหล็ก

นอกจากนี้ คนรู้ว่าระบบ IF ด้อยกว่าก็จริง ราคาต่างกัน คุณภาพต่างกัน แต่ในทางการค้าพอประมูล คนประมูลก็ต้องเลือกของถูก เพราะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ใช้เหล็กมหาศาล คนเสนอราคาก็ต้องเอาของถูกเพื่อจะได้งานจากภาครัฐและเอกชน ก็ยิ่งทำให้ระบบ EAF แข่งขันไม่ได้

ดังนั้น สมอ.ควรแยกไว้คนละเล่มให้ชัดเจน นอกจากนี้ ระบบ IF ยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมค่าโบรอนที่เติมในเหล็กกล้าด้วย (โบรอน : มีคุณสมบัติคือมีความสามารถในการชุบแข็ง สามารถช่วยทำให้เหล็กแข็งดี) ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา

สอดคล้องกับหนึ่งในกูรูวงการเหล็กตอกยํ้าด้วยความเจ็บปวดว่า “บ้านเราอ้าแขนรับทุนนอกแบบไม่ลืมหูลืมตา กระทรวงอุตสาหกรรม (ในยุคนั้น) ปล่อยใบอนุญาต มี มอก.รองรับเสร็จสรรพ บีโอไอให้สิทธิประโยชน์ มีประเทศไทยประเทศเดียวที่นำเทคโนโลยีที่ประเทศอื่นไม่ใช้แล้วนำมาใช้ รู้ทั้งรู้เป็นเทคโนโลยีที่สร้างปัญหามลพิษในประเทศ และการผลิตด้วยระบบ IF นั้น คุณภาพเหล็กได้แค่สำหรับทำรั้ว หรือสำหรับสร้างบ้านชั้นเดียว ซึ่งในจีนเลิกผลิตด้วยระบบนี้ไปแล้ว เพราะมีเหตุตึกถล่มและสร้างปัญหามลพิษรุนแรง”

  • ตั้งข้อสงสัย ตีขลุมเหล็ก IF ได้มาตรฐาน มอก.24-2559

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กข้ออ้อยของประเทศไทย ตั้งแต่ มอก.24-2536 มอก.24-2543 มอก.24-2548 ไม่เคยระบุถึงการผลิตด้วยวิธีเตาอินดักชั่น (Induction Furnace) มาก่อน

ซึ่งในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กจะทราบกันดีว่า การผลิตเหล็กที่ผู้ประกอบการไทยใช้จะมีอยู่ 3 วิธี คือ การใช้เตาอิเล็กทริก (Electric Arc Furnace) เตาโอเพนฮาร์ธ (Open Hearth Furnace) ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว และเตาเบสิกออกซิเจน (Basic Oxygen Furnace)

ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กข้ออ้อย มอก.24-2559 ที่อยู่ดีๆ ก็ระบุถึงกรรมวิธีการผลิตเหล็กแบบอินดักชั่นเฟอร์เนซ โดยกำหนดขึ้นมาเพื่อให้บริษัทจีนย้ายโรงงานผลิตเหล็กที่ประเทศไม่ผลิตแล้วให้มาตั้งที่ประเทศไทย

ดังนั้น คณะกรรมการวิชาการคณะที่ 9 ซึ่งกำกับดูแลมาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต อาจจะต้องชี้แจงต่อสังคมว่า เหตุใดถึงกำหนดกรรมวิธีการผลิตเหล็กด้วยเตาอินดักชั่น เอาไว้ในมาตรฐาน มอก.24-2559

 

  • “เอกนัฎ” เอาจริง รุกทบทวน สมอ.รับรอง เหล็ก IF

เกียวกับเรื่องนี้ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้ลงนามในคำสั่งให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) บรรจุวาระเพื่อพิจารณาทบทวนให้ยกเลิกการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเหล็ก (มอก.เหล็ก) ที่ผลิตโดยกระบวนการเตาหลอม (Induction Furnace หรือ เตา IF)

โดยเชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีเตาระบบเปิดที่ดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ยาก สร้างมลพิษฝุ่นและแก๊สพิษจากการผลิตเหล็ก อีกทั้งกระบวนการผลิตของเตาหลอม IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพเหล็กที่ผลิตออกมาให้สม่ำเสมอได้

นายเอกนัฏ ระบุว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ออก มอก.20-2543 (แก้ไขมาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต-เหล็กเส้นกลม) มอก.24-2548 เพื่อรองรับให้มีการใช้เตาหลอม IF ในการผลิตเหล็กข้ออ้อยมาตั้งแต่ปี 2559 ทำให้บริษัทที่ผลิตเหล็กจากเตาหลอม IF อย่างบริษัท ซิน เคอ หยวน ได้รับ มอก.มาตั้งแต่ปี 2561

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาชุดปฏิบัติการของกระทรวงฯ เข้าตรวจสอบมาตรฐาน มอก.โรงงานผลิตเหล็กเตาหลอม IF หลายแห่ง ปรากฏว่าเหล็กที่ผลิตออกมาไม่ผ่านมาตรฐานตามที่ขอไว้ จึงเกิดการอายัดห้ามผลิตและจำหน่าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า โรงงานที่ผลิตเหล็กจากเตาหลอม IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้มีคุณภาพที่ดีได้

อีกทั้งในปัจจุบันมีโรงงานผลิตเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการเตาอาร์กไฟฟ้า Electric Arc Furnace (EF) ที่ใช้ไฟฟ้าในการหลอมเหล็ก ซึ่งกระบวนการผลิตเหล็กสามารถดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ดีกว่าเตาหลอม IF จึงสร้างมลพิษฝุ่นและแก๊สพิษน้อยกว่า และยังควบคุมคุณภาพได้ง่ายและสม่ำเสมอกว่า

นอกจากนี้ จากการหารือกับสมาคมผู้ผลิตเหล็ก และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แจ้งว่า ปี 2567 ไทยมีกำลังการผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า EF ถึง 4.3 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กเส้นอยู่ที่ประมาณ 2.8 ล้านตัน ดังนั้น การทบทวนการออก มอก.ที่ใช้รับรองกระบวนการผลิตเหล็กจากเตาหลอม IF จึงสามารถดำเนินการได้ เพื่อที่จะยกเลิกเหล็กที่ผลิตจากเตาหลอมประเภทนี้

  • คาดผู้ผลิตจีนในระบบ IF อาจย้ายฐาน

ขณะที่นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตเหล็กในไทยที่ใช้เตาหลอม IF มีทั้งหมด 14 โรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการสัญชาติจีน บางรายมีการร่วมลงทุนกับคนไทย โดยหากกระทรวงอุตสาหกรรมมีการทบทวนและพิจารณาให้ยกเลิกมาตรฐาน มอก.เหล็กที่ผลิตจากเตาหลอม IF โรงงานเหล็กเหล่านี้จะต้องเปลี่ยนเตาใหม่ทั้งหมด

ซึ่งหมายความว่า จะต้องลงทุนใหม่ และการลงทุนใหม่จะต้องใช้เงินค่อนข้างมากเพื่อปรับปรุงให้ใช้เทคโนโลยีเป็นเตา EF เพราะฉะนั้น จึงมีโอกาสเป็นไปได้ที่ทางนักลงทุนเหล่านี้อาจจะต้องปิดกิจการและย้ายฐานการผลิตเหล็กเตา IF ออกจากไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 เม.ย.68 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เรียกประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่กระทรวงการคลัง โดยมีวาระเร่งด่วนเรื่องการพิจารณาถอนสิทธิการส่งเสริมการลงทุนบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด

หลังจากก่อนหน้านี้ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้นำทีมลงไปตรวจสอบตัวอย่างเหล็กจากอาคารสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) พังถล่มหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ที่ผ่านมา ซึ่งนายเอกนัฏได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนมาก่อนหน้านี้ว่า จะมีการดำเนินการเพิกถอนสิทธิบีโอไอ และเพิกถอนมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)

  • เตรียมยกเลิก บีโอไอ สะดุด

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการประชุมบีโอไอ คณะกรรมการได้มีการตรวจพบว่า บริษัทซิน เคอ หยวน ได้รับหนังสือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ลงวันที่ 20 ม.ค. 2568 แจ้งว่าสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกเลิกคำสั่งเตือนพักใช้ใบอนุญาต บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด หลังจากที่บริษัท ได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องตามมาตรฐานการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยเป็นการแก้ไขคำสั่งก่อนหน้านี้ ที่ สมอ.ได้ออกหนังสือเตือนบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด เนื่องจากผลการตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัท เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อย่างไรก็ตาม บริษัท ได้ส่งข้อมูลและหลักฐานการแก้ไขข้อบกพร่องให้ สมอ. พิจารณา และ สมอ. ได้เข้าตรวจสอบการแก้ไขดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568

ผลการตรวจสอบล่าสุดพบว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ได้ปรับปรุงระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว สมอ. จึงยกเลิกหนังสือเตือนฉบับเดิม

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตด้วยว่า การได้รับใบรับรองมาตรฐานเหล็กตามหนังสือที่ สมอ.ออกให้กับ ซิน เคอ หยวน นี้เกิดขึ้นในวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา เกิดภายหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมไปสั่งระงับการดำเนินงานของโรงงานแห่งนี้ไม่นานนัก

  • "เอกนัฏ" งง สมอ.รับรองมาตรฐานเหล็ก

ขณะที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีบอร์ดบีโอไอ ไม่สามารถยกเลิกสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่ให้กับ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ได้ เพราะสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. รายงานผลการตรวจสอบระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ยืนยันว่า บริษัทแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ครบตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขในกฎหมายแล้ว จึงยกเลิกใบแจ้งเตือนก่อนระงับการประกอบกิจการ

โดย นายเอกนัฏ บอกว่า “ผมไม่ทราบเหตุผลของ บีโอไอ แต่ไม่น่าเกี่ยวกันเพราะเป็นคนละเรื่อง”

นายเอกนัฏ อธิบายว่า ตอนทำหนังสือแจ้งเตือน บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด มี 2 กรณี คือ 1. ระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์บกพร่อง 2. ผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

หนังสือที่ปรากฏเป็นข่าวน่าจะเป็นเอกสารตามข้อ 1 ของ สมอ. และตนยังไม่ได้รับรายงาน แต่การตรวจสอบตามข้อ 2 ยังดำเนินการอยู่ ฉะนั้นจึงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

“จากหนังสือฉบับนี้ ทำให้บอร์ดบีโอไอยังไม่สามารถประชุมเพื่อยกเลิกสิทธิบีโอไอให้กับบริษัท ซิน เคอ หยวน ได้ เพราะเท่ากับว่า บริษัทนี้ยังได้รับการยืนยันมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม มาก่อน หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ก็ยังยกเลิกบีโอไอไม่ได้ เพราะอาจเข้าข่ายกลั่นแกล้งเอาผิดเอกชน และอาจมีการฟ้องร้องจากเอกชนเหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นกับเหมืองทองอัครา”

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงบทส่งท้าย จะโทษ ซิน เคอ หยวน หรือเหล่าบริษัทผู้ผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงฝ่ายเดียว คงไม่ถูกต้องอย่างครบถ้วนนัก เพราะยังมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ ควบคุม ต้องได้รับการตรวจสอบอย่าเข้มข้นไปพร้อมกันด้วย

 ถามหาปลัดกระทรวงอุตฯ และเลขาฯ สมอ.

เพราะจากข้อมูลที่พบเห็น คำถามจึงเกิดขึ้นว่า การที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดไฟเขียวให้การผลิตเหล็กในระบบ IF ที่มีความบกพร่องทางวิชาการและถูกระงับไม่ให้ใช้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนนั้น ทำไมประเทศไทยถึงกล้ารับนำเข้ามาผลิต ... และปล่อยให้เกิดการลักลอบนำมาใช้ หลัง ซิน เคอ หยวน ปฏิเสธ มิใช่บริษัทที่จำหน่ายเหล็กให้กับการก่อสร้างตึก สตง.

หลายคนพอใจต่อการเอาจริงเอาจังของรัฐมนตรีว่ากการกระทรวงอุตสาหกรรม ..!!!

แต่กำลังถามหา 2 บุคคล ที่ควรมีความรับผิดชอบโดยตรง หนึ่ง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ที่รับผิดชอบต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานทั้งหมดของกระทรวงอุตสาหกกรม อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมอ.มาก่อนหน้านี้ จาก 1 ต.ค. 2560-30 มิ.ย. 2561 ที่คาบเกี่ยวกับบริษัท ซิน เคอ หยวน ได้รับ มอก.ในช่วงปี 2561 เช่นกัน ควรต้องออกมาชี้แจ้ง

และอีกบุคคลก็คือ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) คนปัจจุบัน กับมาตรการเชิงรุกเพื่อสกัดกั้นในการนำเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือในสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน มาใช้ในประเทศไทย ....

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...