นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุมของกกพ. ครั้งที่ 32/2566 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าเอฟทีประจำรอบเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ
กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 249.81 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย
พร้อมเงินเรียกเก็บเพื่อชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 – เม.ย. 2566 คิดเป็นเงินจำนวน 135,297 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที
กรณีที่ 2 (ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 66) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 91.19 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย
โดยทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 – เม.ย. 2566 จำนวน 38,291 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
จากกรณีที่ 2 คาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 97,006 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย
โดยทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 – เม.ย. 2566 โดยแบ่งเป็น 5 งวดๆ ละ 23,428 ล้านบาท
จึงคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 111,869 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับลดลงเป็น 4.45 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอของ กฟผ.
นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุน ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิง
โดยปัจจัยมาจากทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกเริ่มคลายตัวรวมทั้งแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกที่แกว่งตัวในระดับต่ำ ทำให้การนำเข้า LNG เพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติทางท่อที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายที่ลดลง
ทว่า ยังมีภาระที่ กฟผ. ต้องแบกรับจากภาระต้นทุนราคา LNG ในช่วงวิกฤตพลังงานมากกว่าแสนล้านบาทแทนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องทยอยจ่ายคืน ส่งผลให้ทางเลือกค่าเอฟทีที่ต่ำสุดที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วยหรือค่าไฟฟ้า 4.45 บาทต่อหน่วยตามที่ กฟผ. เสนอ
“ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) ที่ลดลงในรอบ พ.ค.- ส.ค. 66 ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อค่าประมาณการค่าเอฟที ในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 ถึงแม้ว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นแต่จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ประกอบกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งให้ภาคไฟฟ้ามีจำนวนจำกัด”
นอกจากนี้การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งการเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรปส่งผลให้ความต้องการใช้ LNG เพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย สำนักงาน กกพ. ร่วมกับ ปตท. กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การผลิตและใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในราคาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที (Ft) สำหรับการเรียกเก็บในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 7 – 21 กรกฎาคม 2566 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป