น.อ.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ จ.กระบี่ เพื่อศึกษาศักยภาพ ความเหมาะสมของพื้นที่ อ.คลองท่อม ให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยืน ครอบคลุมบริเวณ น้ำตกร้อนสระมรกต และน้ำพุร้อนเค็ม ภายใต้แนวคิดคลองท่อมเมืองสุขภาพ หลังพบว่า อ.คลองท่อม มีความโดดเด่นทั้งด้านธรรมชาติประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเฉพาะที่ ต.ห้วยน้ำขาว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำพุร้อนเค็ม เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีน มีน้ำพุร้อนเค็มแห่งเดียวของไทย และเป็น 1 ใน 2 แห่งของทั่วโลก ซึ่งอีกหนึ่งแห่งอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก ยุโรปตะวันออก
ทั้งนี้ อพท. เตรียมสรุปผลการศึกษาเสนอคณะกรรมการ อพท. พิจารณาประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เห็นชอบต่อไป คาดว่าปลายปีนี้ จะศึกษาแล้วเสร็จและดำเนินการแล้วเสร็จทั้งกระบวนการในปี 67 จากนั้นจะจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ อ.คลองท่อม ที่ต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และแผนยุทธศาสตร์ชาติบีซีจี โมเดล ซึ่งสามารถดึงเงินลงทุนเข้ามาในพื้นที่ โดยจะเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตามหลังประกาศพื้นที่พิเศษฯ อ.คลองท่อม แล้ว อพท. จะใช้องค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน ทั้งเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก, เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของไทย เพื่อยกระดับคลองท่อมเป็นเมืองแห่งสุขภาพ และเข้าไปยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการและเชิญชวนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและมีศักยภาพเข้ามาพัฒนาพื้นที่คลองท่อม ให้เป็นมากกว่าแหล่งท่องเที่ยว แต่เป็นแหล่งฟื้นฟูและดูแลสุขภาพ รวมถึงนำเสนอเข้ารับการรับรองเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลกอีกด้วย
ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอคลองท่อม ต่างตื่นตัวพัฒนาศักยภาพพื้นที่ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยปี 65 อพท. ได้นำมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไปประเมิน โดยมีเทศบาล ต.คลองท่อมใต้ และ อบต.คลองท่อมเหนือ ซึ่งพบว่าได้บริหารจัดการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และได้รับใบประการมาตรฐานฯ ในปีงบประมณ 65 และจากสถิติปี 62 พบว่าว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เดินทางมาท่องเที่ยวที่ จ.กระบี่ เกือบ 7 ล้านคนต่อปี ทำรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ หรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และใน 5 เดือนแรกปี 66 มีนักท่องเที่ยวแล้ว ประมาณ 1.2 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป และอาหรับ นิยมเดินทางมาที่กระบี่กันมาก.