สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เห็นด้วยกับแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง ซึ่งเป็นนโยบายของทางรัฐบาล เพื่อเดินหน้าให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการให้บริการการเดินรถแก่ประชาชนทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลและแผนการปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง และผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางที่มีสัญญาเดินรถร่วมบริการกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อปรึกษาหารือในการหาแนวทางก่อนการดำเนินการในเรื่องนโยบายของภาครัฐที่จะให้มีการปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง และมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่จำนวน 269 เส้นทาง โดยจะให้ยกเลิกสัญญาของผู้ประกอบการทุกรายที่ทำสัญญาไว้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ให้ไปรับใบอนุญาตโดยตรงกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแลแต่เพียงผู้เดียว
ทั้งนี้ สมาคมฯ เห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปดังกล่าว เนื่องจากจะช่วยพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทาง และแก้ไขปัญหาการจราจรได้ในระยะยาว พร้อมทั้งยื่น 6 ข้อเสนอให้รัฐบาล คือ ขอแยกการบริหารงานออกจาก ขสมก. โดยรวมตัวกันเป็นผู้ประกอบการรายเดียว และสามารถขอใบอนุญาตประกอบการเดินรถ อายุ 7 ปี จากกรมการขนส่งทางบกได้เช่นเดียวกับ ขสมก. ให้รัฐบาลออกมาตรการลดหย่อนภาษี หรือทยอยจ่ายภาษีนำเข้าเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง และลดค่าไฟฟ้า รองรับการศึกษาการนำรถเมล์ไฟฟ้า ที่ผู้ประกอบการเตรียมนำมาใช้ในปีหน้า จำนวน 2,000 คัน ขอปรับค่าโดยสารใหม่ โดยคิดในอัตรา เหมาจ่ายวันละ 40 บาท หรือ เที่ยวละ 20 บาท จัดช่องทางเดินรถโดยสาร หรือ บัสเลน ในช่วงเวลาเร่งด่วน และให้ขสมก. ผ่อนผันหนี้ของผู้ประกอบการ มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท โดยงดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีการพิจารณาให้กรมการขนส่งทางบกเข้ามาเป็นหน่วยงานบริหารจัดการหนี้ระหว่างผู้ประกอบการกับ ขสมก.ให้เป็นธรรม และหากผู้ประกอบการสามารถรวมกลุ่มได้ รวมถึงจัดหารถได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ก็สามารถขอใบอนุญาตประกอบการเดินรถ อายุ 7 ปีได้เช่นเดียวกับ ขสมก. ส่วนเรื่องการปรับค่าโดยสารระบบรถโดยสารสาธารณะนั้น ยืนยันว่ายังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และต้นทุนการให้บริการที่แท้จริง ซึ่งจะยังไม่มีการปรับขึ้นในระยะนี้อย่างแน่นอน ขณะที่ความคืบหน้าโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 489 คันนั้น อยู่ระหว่างการเปิดให้เอกชนซื้อเอกสารการประมูล ซึ่งมีเอกชนสนใจแล้ว 3 ราย คาดว่าจะลงนามสัญญาผู้รับจ้างได้ในเดือนกันยายนนี้ ก่อนจะทยอยรับมอบรถได้ในเดือนธันวาคมนี้