“หอการค้าฯ ห่วงการเมืองลากยาว หลัง กกต.ยื่นศาลรธน.ปมหุ้นพิธา ชี้กระทบเชื่อมั่นลงทุนใหม่ เหตุนโยบายยังไม่นิ่ง ชี้หากเกิดชุมนุมจะกระทบภาคท่องเที่ยว ชี้เอกชนพร้อมทำงานกับทุกรัฐบาล และข้าราชการประจำ วอนทุกฝ่ายยึดตามกม.รธน.
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องการถือหุ้น ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติว่าในกรณีที่ทำให้การได้นายกรัฐมนตรี และครม.ชุดใหม่ล่าช้า
ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนใหม่ๆที่จะเข้ามาจากต่างประเทศเพราะนักลงทุนจะต้องรอดูความชัดเจนในเรื่องของนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภาว่าจะบริหารประเทศในทิศทางใด
นอกจากนั้นการตั้งรัฐบาลล่าช้ายังมีผลต่องบประมาณที่ยังไม่ออกมา โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของงบลงทุนเพราะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติงบประมาณในส่วนนี้ได้ โดยการทำงานของรัฐบาลรักษาการนั้นยังทำงานอยู่ตามกฎหมายจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่แต่หากต้องขออนุมัติอะไรต้องส่งเรื่องไปยัง กกต.
เมื่อถามว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองบานปลายจนเกิดการชุมนุมจะกระทบกับเศรษฐกิจมากน้อยอย่างไร นายพจน์ กล่าวว่าก็จะกระทบกับบรรยากาศการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆลำบากขึ้น และหากมีการชุมนุมก็คงต้องขอให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมายและอยู่ในกรอบของกฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุมและการใช้สิทธิ์การชุมนุมโดยสงบตามที่กฎหมายกำหนด
กกร.พร้อมทำงานร่วมกับทุกกรัฐบาลผลักดันนโยบายที่ดี
โดยขณะนี้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ยังไม่ได้มีการนัดหมายการประชุมเพื่อประเมินผลกระทบทางการเมืองที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทยแต่จะมีการติดตามสถานการณ์เป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามภาคเอกชนพร้อมจะทำงานกับรัฐบาลใหม่ทุกรัฐบาลหากมีการเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประเทศภาคเอกชนก็พร้อมสนับสนุน ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีการทำงานกับหน่วยงานราชการ และข้าราชการประจำเพื่อขับเคลื่อนประเด็นและการแก้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน
ท่องเที่ยวพยุงเศรษฐกิจ
นายพจน์ยังกล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า กกร.ประเมินว่าภาคการส่งออกในปีนี้ไม่สดใสโดยการส่งออกของไทยดีที่สุดคือขยายตัวได้ 0% แต่อาจจะติดลบได้ เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี ขณะที่ประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อในหลายประเทศยังกดดันเศรษฐกิจ
ดังนั้น เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้ดีในขณะนี้คือภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยมากถึง 25 – 30 ล้านคน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจได้ประโยชน์ในหลายส่วน และรายได้จากการท่องเที่ยวสามารถกระจายไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ค่อนข้างมาก