กาญจนบุรี - สังขละบุรี ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 5.1 กาญจนบุรีร่วมกับเทศบาลตำบลวังกะ และกระทรวงสาธารณสุข อ.สังขละบุรี ทำการพ่นฝอยละอองเคมี ULV ควบคุมยุง เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไข้เลือดออก ในเขตเทศบาลตำบลวังกะ
วันนี้ 13 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรังสิมันตุ์ ทองสวัสดิ์ สาธารณสุขอำเภอสังขละบุรี นายศิริชัย ทะเกิงกุล เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่5.1 กาญจนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ เทศบาลตำบลวังกะ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้ลงพื้นที่ทำการพ่นฝอยละอองเคมี ULV (Ultra Low Volume) ร่วมทำการพ่นควบคุมยุง โดยวิธีพ่นฝอยละอองเคมี ULV ติดรถยนต์และน้ำยาเคมี พ่นบริเวณในเขตเทศบาลตำบลวังกะ
เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลวังกะ พบผู้ป่วยทุกสัปดาห์ โดยมีสาเหตุปัจจัยการแพร่ระบาด คือพาหะนำโรคยุงลายมีจำนวนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้วิธีพ่นควบคุมยุงโดยวิธีพ่นฝอยละอองเคมี ULV เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไข้เลือดออกบริเวณในเขตเทศบาลตำบลวังกะ
โดยการพ่นฝอยละอองเคมี ULV ควบคุมยุงครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 8.30 น. ไปจนถึง 16.30 น. และเริ่มทำการพ่นฝอยละอองเคมี ULV ตั้งแต่บริเวณหน่วยราชการเขตอำเภอสังขละบุรี บ้านพักข้าราชการ ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอสังขละบุรี ซอย 7 วัดศรีสุวรรณ วัดสมเด็จ โรงเรียนและบ้านพัก (ในเขตเทศบาลตำบลวังกะ) ซอยสามประสบ ไปจนถึงวัด วัดวังก์วิเวการาม ศูนย์เด็กเล็กวัดวังวิเวการาม และหมู่บ้านดงสัก และในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ก็จะทำการพ่นฝอยละอองเคมี ULV ไปจนถึงโรงเรียนบ้านเด็กป่า
โดยจะมีเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แจ้งให้ทราบ และดูความพร้อมก่อนทำการพ่นฯ เพื่อความปลอดภัย ซึ่งประชาชนจะต้องเปิดประตู/หน้าต่างบ้าน ในขณะที่เจ้าหน้าที่พ่นฯ เพื่อให้ลมพัดพาน้ำยาเข้าไปในบ้าน เพื่อสัมผัสกับตัวยุงลายภายในบ้าน ต้องปกปิดอาหาร และภาชนะใส่อาหารให้มิดชิดเพื่อป้องกันสารเคมีปนเปื้อน ต้องเก็บเสื้อผ้า ข้าวของที่ไม่ต้องการให้ถูกสารเคมีให้มิดชิด ต้องนำเด็กเล็ก คนชรา คนป่วย มาพักนอกบ้าน ประมาณ 30 นาที และให้ผู้ปกครองเตือนบุตรหลานไม่ให้ตามเล่นละอองที่พ่นออกมา รวมทั้งนำสัตว์เลี้ยงออกมาพักนอกบ้าน และจะสามารถกลับเข้าบ้านได้หลังจากพ่นสารเคมีไปแล้ว อย่างน้อย 30 นาที
นายรังสิมันตุ์ ทองสวัสดิ์ สาธารณสุขอำเภอสังขละบุรี กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานจากโรงพยาบาลทั้งหมดในสังขละบุรีว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – เดือนกรกฎาคมพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่แล้ว โดยส่วนมากเป็นครู และนักเรียน ซึ่งก็ได้มีแนวทางการแก้ไข และป้องกันโดยการให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยการแจกทรายอะเบท (Abate) ทั้งทางกายภาพ และชีวภาพ ในส่วนการควบคุมยุง ถ้าหากได้รับแจ้งว่าพบผู้ป่วยก็จะแจ้งไปยังท้องถิ่น เพื่อใช้วิธีการพ่นเคมีหมอกควันตามบ้านผู้ป่วยในรัศมี 100 เมตร 3 ครั้ง รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ ให้ความรู้ที่หน้าเสาธงทุกวันอย่างเคร่งครัด และในส่วนของการพ่นฝอยละอองเคมี ULV ควบคุมยุงครั้งนี้ เนื่องจากต้องการกำจัดยุงที่โตเต็มวัย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ซึ่งจะเน้นในบริเวณที่มีกลุ่มคนหนาแน่น เช่น โรงเรียน วัด ชุมชน ที่อาจเป็นจุดที่เป็นรังโรค
ทั้งนี้ประชาชนควรต้องสังเกตอาการของตนเองและคนใกล้ชิด หากมีอาการไข้สูง นาน 2-7 วัน ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา ตัวแดง ตาแดง ให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยและตรวจรักษา ซึ่งตอนนี้โรคไข้เลือดออกแพร่ระบาดมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งประชาชนสามารถช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณรอบบ้านตนเองได้ง่ายๆ เช่น เทน้ำขังทิ้งทุกๆ 7 วัน โดยเฉพาะบริเวณน้ำขังเล็กๆที่อาจมองข้าม อย่างบริเวณจานรองกระถางต้นไม้ แจกัน ถังใช้น้ำ โอ่งน้ำ อ่างบัว ยางรถยนต์เก่า เป็นต้น
ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน(พ.ค-มิ.ย) พบผู้ป่วยด้วยไข้เลือดออกในพื้นที่เทศบาลตำบลวังกะแล้วกว่า 50 ราย โดยพื้นที่ที่พบมากที่สุดอยู่ในพื้นที่ ม.3 บ้านไหล่น้ำ และ ม.2 บ้านวังกะ
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน