ครม.รับทราบผลการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบ 65 มีการเบิกจ่ายงบประมาณ 130,480.54 ล้านบาท ดูแลผู้มีสิทธิ 47.46 ล้านคน ครอบคลุมการดูแลรักษาพื้นฐาน เฉพาะโรค เฉพาะกลุ่ม และส่งเสริมสุขภาพ พร้อมยกระดับคุณภาพบริการและการคุ้มครองสิทธิ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 18 ก.ค. 66 ได้รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นำเสนอ โดยมีข้อมูลการดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้
ในด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ มีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้กับหน่วยบริการให้ผู้มีสิทธิรวม 130,480.54 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.84 ของงบประมาณทั้งหมด 140,550.19ล้านบาท ด้านความครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพ พบว่าสิทธิกองทุน สปสช. ครอบคลุมคนไทย 47.46 ล้านคน มีการลงทุนเลือกหน่วยบริการประจำ 47.18 ล้านคน คิดเป็นความครอบคลุมที่ร้อยละ 99.40
ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 65 มีหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีทั้งสิ้น 15,847 แห่ง ประกอบด้วยหน่วยปฐมภูมิ 12,185 แห่ง หน่วยบริการประจำ 1,213 แห่ง หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป 1,085 แห่ง หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน 4,633 แห่ง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านผลงานบริการตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร พบว่า มีการให้บริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว สำหรับผู้ป่วยนอก 167 ล้านครั้ง ผู้ป่วยใน 6.2 ล้านครั้ง บริการกรณีเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน 6,871 คน บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 3.9 ล้านคน ส่วนบริการเฉพาะกลุ่ม(นอกงบเหมารายจ่ายรายหัว) เช่นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี 198,199 คน ผู้ป่วยไตวายเข้ารับการล้างไต ฟอกไต ปลูก่ถายไต 82,463 คน ผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงติดเตียง 201,291 คน
นอกจากนี้ สปสช. ได้ผลักดันในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานการบริการสาธารณสุข โดยพบว่าหน่วยบริการรับส่งต่อในเครือข่ายได้รับการรับรองตามกระบวนการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับ HA (Hospital Accreditation) ร้อยละ 84.79 หรือ 920 แห่ง จากที่มีการประเมิน 1,085 แห่ง รวมถึงให้การคุ้มครองสิทธิผ่านกลไกต่างๆ เช่น มีช่องทางให้สอบถามข้อมูล ร้องเรียน ร้องทุกข์ ประสานส่งต่อผู้ป่วย และบริการเชิงรุกผ่านสายด่วน สปสช. 1330 ช่องทางออนไลน์ต่างๆ การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ตลอดจนมีกลไกการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิทั่วประเทศทั้งส่วนกลางและเครือข่ายของท้องถิ่น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับความท้าทายในบริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ต้องดำเนินการระยะต่อไปมีหลายประการ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุน สปสช. โดยการพัฒนาการยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ การตรวจสอบการเบิกจ่ายแบบเรียลไทม์ การใช้ AI เข้ามาตรวจสอบการจ่ายชดเชย ต้องมีการพัฒนารูปแบบการเบิกจ่ายที่มีประสิทธิภาพลดความเสี่ยงและปัญหาทางการเงินของหน่วยบริการ
ต้องพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงโดยุมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น การเพิ่มความเข้มแข็งให้ระบบบริการปฐมภูมิ การเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศและการบริหารจัดการบิ๊กดาต้า การสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพ ตลอดจนการสร้างความเป็นเอกภาพของระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 ระบบ