ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์เฟซบุ๊ก “Prinya Thaewanarumitkul” ระบุว่า
ส.ว.หลายท่านออกมาบอกว่า เสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ไม่ได้ เพราะ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 กำหนดว่า “ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน”
ผมขอเรียนว่าท่าน ส.ว. เข้าใจ คลาดเคลื่อน ไปมากครับ เพราะข้อ 41 อยู่ในข้อบังคับหมวด 2 ส่วนที่ 2 เรื่องการเสนอญัตติ “ญัตติ” ที่ตกไปแล้วที่เสนอซ้ำไม่ได้ตามข้อ 41 จึงหมายถึงญัตติตามข้อบังคับหมวด 2 ส่วนที่ 2 นี้เท่านั้น ซึ่งข้อ 29 กำหนดว่า “ญัตติท้ังหลายต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานรัฐสภา และ ต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสิบคน”
ส่วนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ ไม่ใช่การเสนอญัตติ หากเป็นเรื่อง กระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 159 บัญญัติว่า ต้องมี ส.ส. ให้ความเห็นชอบอย่างน้อยหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งก็คือ 50 คน ไม่ใช่แค่ 10 คนเหมือนเสนอญัตติ
อีกทั้งข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเรื่องการให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ก็อยู่หมวด 9 ไม่ใช่หมวดเดียวกันกับการเสนอญัตติ การนำเอาข้อ 41 มาอ้างว่าโหวตเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนเดิมรอบสองไม่ได้ จึงผิดโดยสิ้นเชิง
ผมเห็นว่าเป็นเรื่องประหลาดที่ท่าน “สมาชิกวุฒิสภา” มาเสนออะไรแบบนี้ เพราะมันเท่ากับเป็นการเอาข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด แล้วยังเป็นการเอามาใช้แบบผิดๆ ถูกๆ โดยสมาชิกวุฒิสภา ซึ่่งสังคมคาดหวังว่าน่าจะมี “วุฒิ” มากกว่านี้
สรุปคือ เสนอชื่อพิธารอบสองได้ครับ ส่วนเสียงจะได้ถึงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านประธานรัฐสภาชี้ขาดได้เลย โดยที่ไม่ต้องมีการลงมติตีความข้อบังคับ เพราะการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ญัตติครับ