นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ(สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)เข้าพบ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนครู
โดยเสนอให้ปรับวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว16) ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานหรือลูกจ้างในโรงเรียนที่ปฏิบัติงานสอนไม่น้อยกว่า 3 ปีมีโอกาสสมัครอยู่แล้ว จากเดิมที่ใช้วิธีการสอบคัดเลือก มาเป็นวิธีการประเมิน นั้น มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณารายละเอียดร่วมกัน
ทั้งนี้ในการประชุม ส.บ.ม.ท. เสนอให้ น.ส.ตรีนุช พิจารณา ยกเลิกการสอบครูผู้ช่วย ว16 เพราะมีครูสอบผ่านได้น้อย ทำให้โรงเรียนไม่สามารถบรรจุแต่งตั้งได้ตามอัตราว่างที่ประกาศรับ ซึ่งทาง รมว.ศธ. ก็มองเห็นปัญหา จึงมอบให้ สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปดูรายละเอียดว่า จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร
“หากยกเลิกระบบการสอบครูผู้ช่วยว16 จริง ก็ต้องมาดูมาตรการป้องกันระบบอุปถัมภ์ เพื่อให้การคัดเลือกเกิดความเป็นธรรม อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์เบื้องต้น สพร. เตรียมจัดทำข้อเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกรณีเขตพื้นที่ฯเปิดสอบแล้วมีผู้สอบผ่านไม่เพียงพอกับอัตราว่างที่ประกาศรับ
เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ สพฐ. จะกำหนดปฏิทินสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยให้ถี่ขึ้น มากกว่าปีละ 1 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการสอบคัดเลือก ตามว16 หรือ การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ตาม ว14
เพื่อให้แต่ละพื้นที่ฯ ได้อัตราครบตามความต้องการ ซึ่งตรงนี้ สพฐ. ต้องไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ภาพรวมเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อไป ทั้งนี้ หากนโยบายมีความชัดเจน เปิดกว้างให้เปิดสอบได้มากกว่า 1 ครั้ง สพร. ก็พร้อมดำเนินการ และคิดว่าเป็นเรื่องดี แต่อาจจะติดปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะการจัดสอบแต่ละครั้งจะต้องใช้งบกว่า 26 ล้านบาท ” นายสุรินทร์ กล่าว
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับสาขาวิชาที่เปิดสอบแล้ว ไม่มีผู้สมัคร หรือมีผู้สอบคัดเลือกได้น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นสาขาวิชาเอกประถมศึกษา โดยสาเหตุที่เพิ่งมาขาดในช่วงนี้ เนื่องจากเมื่อปี 2564 สำนักงานก.ค.ศ.ออกหลักเกณฑ์ให้โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ ต้องมีครู ที่จบสาขาวิชาเอกประถมศึกษา ปฏิบัติการสอบอยู่ด้วย ทำให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผลิตครูสาขาดังกล่าว ไม่ทันต่อความต้องการใช้ และทราบว่า ขณะนี้สถานบันฝ่ายผลิตต่าง ๆ ก็เปิดรับนักศึกษาสาขาวิชาเอกประถมวัยมากขึ้น แต่ก็คงต้องใช้เวลา
สำหรับการสอบครูผู้ช่วย ว16 ปี2566 ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 21-27 กรกฎาคม นั้น ข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม มีเขตพื้นที่ฯ เปิดรับสมัครทั้งหมด 216 แห่ง ใน 50 กลุ่มวิชา อัตราว่าง รวม 8,061 อัตรา มีผู้สมัครรวม 12,804 ราย โดยเกณฑ์ การสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว16 กำหนดให้ผู้ดำเนินการคัดเลือก อาจคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้ง เป็นครูผู้ช่วย อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1.มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือทางราชการมีเงื่อนไขให้รับโอนโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนอื่นใด มาเป็นโรงเรียนรัฐบาล หรือเงื่อนไขผูกพันอื่นที่ทางราชการให้ไว้เป็นการเฉพาะให้บรรจุและแต่งตั้ง
2.มีสัญญาผูกพันตามโครงการพิเศษ หรือโครงการนักเรียนทุนรัฐบาล
3.ประกาศสอบแข่งขันไม่น้อยกว่า 2 ครั้งแล้วไม่มีผู้สมัคร
4.ดำเนินการสอบแข่งขันไม่น้อยกว่าสองครั้งแล้ว ได้จำนวนคนไม่เพียงพอกับตำแหน่งว่างที่จะบรรจุและแต่งตั้งตามที่ประกาศ
5.การบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ไปบรรจุหรือแต่งตั้งในพื้นที่ที่เป็นเกาะแก่ง ภูเขาสูง ฯ
6.การบรรจุแต่งตั้งพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ครูสอนศาสนาอิสลาม ฯลฯ ซึ่งทุกตำแหน่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอน ตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันที่รับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย โดยไม่มีภาระงานสอนตามที่ส่วนราชการกำหนด