กอนช. ชี้ประเทศไทยประสบทั้งปัญหาฝนตกน้อยจากสภาวะเอลนีโญและฝนตกมากในบางพื้นที่ จึงต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง ควบคู่การขับเคลื่อน 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กอนช. ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า อิทธิพลของ"พายุตาลิม" ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 16-22 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในประเทศไทย 640 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ยังคงเป็นปริมาณน้ำที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สถานการณ์น้ำน้อยจึงยังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยปัจจุบันแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 40,655 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 49% ของความจุรวม ในปริมาณนี้เป็นน้ำใช้การ 16,547 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 29% โดยขณะนี้ปริมาณน้ำยังเพียงพอต่อการใช้สนับสนุนการเกษตรและทุกกิจกรรมที่ต้องการใช้น้ำ
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า จากผลของสภาวะ"เอลนีโญ"ที่ส่งผลให้มีฝนตกน้อยในทุกภาค ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนไม่มากนัก ส่งผลให้ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักดังกล่าว มีปริมาณน้ำใช้การเหลือเพียง 3,044 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 17% ซึ่งน้อยกว่าปริมาณน้ำ ณ วันเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่กว่า 600 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างฯ ขนาดใหญ่ ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 พบว่า จะมีปริมาณน้ำ 44,278 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 62% เป็นน้ำใช้การ 20,735 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 44% ซึ่งน้อยกว่าปริมาณน้ำในปี 65 ค่อนข้างมาก กอนช. จึงได้กำชับทุกหน่วยงานในการดำเนินการแผนบริหารจัดการน้ำ 2 ปี ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ล่วงหน้า