สทนช. ร่วมกับ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และเทศบาลในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ หารือเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่รอยต่อ กทม. เร่งด่วนช่วงฝนชุก รุดแก้จุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคการระบายน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยโดยเร็วที่สุด
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่คลองสำโรง ณ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และผู้แทนจากเทศบาล ต.สำโรงเหนือ เทศบาล ต.ด่านสำโรง เทศบาล
ต.ปู่เจ้า และเทศบาล ต.บางเมือง ว่า ในช่วงฤดูฝนแต่ละปีพื้นที่ จ.สมุทรปราการ มักประสบปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย จากฝนที่ตกในพื้นที่ แผ่นดินทรุด รวมถึงสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ และเส้นทางคมนาคมหลัก ซึ่งจากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากเทศบาลทั้ง 4 ตำบลใน จ.สมุทรปราการ พบว่า จุดเชื่อมต่อการระบายน้ำต่างๆ ยังทำได้ไม่ดีนักหากมีปริมาณฝนตกมาก ซึ่งในส่วนแผนงานโครงการการพัฒนาแผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน
ดังนั้น สทนช.จะเร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและเร่งระบายน้ำของ จ.สมุทรปราการ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ออกสู่ทะเลให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ซี่งในช่วงที่ผ่านมาในพื้นที่นี้ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง เช่น ชุมชนย่านแบริ่ง ถ.ศรีนครินทร์ เป็นต้น แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น แต่ก็ส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชน รวมถึงการสัญจรในพื้นที่ เบื้องต้นได้มอบหมายให้กรมชลประทาน และจังหวัดร่วมกันพิจารณาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองสำโรงเพื่อให้การระบายน้ำได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ยังมีสถานีสูบน้ำคลองสำโรงที่รับน้ำจากพื้นที่ กทม. ซึ่งจากการติดตามความพร้อมเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ 25 เครื่องขณะนี้พบว่า มีประสิทธิภาพใช้งานได้ทั้งหมด
“จากการประชุมและลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมระบบระบายน้ำในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ทั้งจุดสถานีคลองสำโรง คลองมหาวงศ์ และคลองพระองค์ไชยานุชิต พบว่า มีความพร้อมในเรื่องเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อเร่งระบายน้ำหากเกิดมีฝนตกลงมาในปริมาณมาก แต่เนื่องจากพบว่า ยังมีหลายจุดที่ยังเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคต่อการระบายน้ำ สทนช.จะรับไปเร่งรัดดำเนินการพิจารณาแผนงานโครงการ เพื่อประสานหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องปรับแผนงานที่สามาถดำเนินการได้ทันทีในช่วงฝนนี้ก่อน คู่ขนานไปกับการพิจารณาแนวทางที่ทำให้เกิดควาวมยั่งยืนมากขึ้น เช่น การขยายคลองมหาวงศ์ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองสำโรง เพื่อระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้ทันที ซึ่งหากแนวทางการขยายคลองเดิมมีข้อจำกัด อาจะพิจารณาเป็นการวางท่อเชื่อมต่อเพื่อระบายน้ำ เป็นต้น” เลขาฯ สทนช.กล่าว