นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืนของประเทศไทยว่า ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2577 เนื่องจากไทยสามารถเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งขึ้นทุกปี จากการประเมินในปี 2565 ที่ผ่านมาพบเสือโคร่ง 148 - 189 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่สำรวจพบ 130 - 160 ตัว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ สามารถดักถ่ายภาพเสือโคร่งในธรรมชาติได้ 16 - 21 ตัว แล้วยังสามารถบันทึกภาพวัวแดงสัตว์ที่เป็นเหยื่อสำคัญของเสือโคร่งพบอาศัยหากินในบริเวณดังกล่าวด้วย หลังไม่พบให้เห็นกว่า 40 ปี ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ทั้งนี้ ประเทศไทย มีแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง พ.ศ. 2565 - 2577 ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานการคุ้มครองถิ่นอาศัยสำคัญของเสือโคร่ง คือ ผืนป่าตะวันตก และผืนป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ควบคู่กับเร่งฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในถิ่นอาศัยเป้าหมาย คือ ผืนป่าแก่งกระจาน // ผืนป่าภูเขียว - น้ำหนาว และผืนป่าคลองแสง - เขาสก เพื่อนำไทยเข้าสู่การเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ตามแผนที่วางไว้
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า เป้าหมายและความสำเร็จในการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคเอกชน และประชาชนทุกคน เข้ามาสนับสนุนและมีส่วนร่วมอนุรักษ์เสือโคร่งให้คงอยู่คู่กับผืนป่าของประเทศต่อไป