เอกชน ประเมินเอลนีโญ สร้างความเสียหายภาคการเกษตร 4.8 หมื่นล้านบาท”ข้าว”อ่วมสุด 37,631 ล้านบาท หรือเกือบ 80 % ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด แนะภาครัฐบรูณาการน้ำเป็นระบบ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
สำหรับผลกระทบเอลนีโญ คาดสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรไทยในปี 2566 เสียหายราว 4.8 หมื่นล้านบาท เป็นการประเมินความเสียหายในด้านพืชเท่านั้น โดยพืชที่กระทบมากได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ รวมคิดเป็นมูลค่าความเสียหายในปี 2566 ราว 4.8 หมื่นล้านบาท
โดยข้าว เป็นพืชที่เสียหายมากที่ 37,631 ล้านบาท หรือเกือบ 80 % ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด หากพิจารณาเทียบความเสียหายจากภัยแล้งที่มีต่อข้าวในอดีต พบว่า ภาพรวมความเสียหายของข้าวในปี 2566 น้อยกว่าในปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง ทั้งในเชิงมูลค่าและปริมาณผลผลิตข้าวที่เสียหาย แต่มากกว่าปี 2563
ขณะที่อ้อย ปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงอาจกระทบต่อการผลิตน้ำตาลในอินเดียและไทย และอาจกระทบต่อการเก็บเกี่ยวอ้อยในบราซิล อาจเป็นโอกาสในแง่มูลค่า ราคาน้ำตาลตลาดโลกปีนี้พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ส่วนผลไม้ แปรรูป ทั้งกระป๋อง น้ำผลไม้และเครื่องดื่ม ได้รับผลกระทบจากด้านปริมาณผลผลิตกลุ่มสินค้าผลไม้ และราคาน้ำตาลที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ได้ปัจจัยบวกจากอากาศที่ร้อนส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้าในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำผลไม้และเครื่องดื่ม
ด้านปศุสัตว์และประมง คาดผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงครึ่งปีหลังแต่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความร้อน และราคาอาหารสัตว์อาจมีต้นทุนที่สูงขึ้นได้คาดว่า ผลกระทบของเอลนีโญที่มีต่อภาคเกษตรไทยในปี 2567 คงมีความรุนแรงขึ้น สร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะพืชฤดูแล้ง ทั้งด้านปริมาณและจำนวนชนิดพืชที่เสียหาย ดันราคาให้อยู่ในระดับสูง โดยอาจมีตัวเลขความเสียหายมากขึ้นกว่าปี 2566
ดังนั้นต้องติดตามระดับความรุนแรงของเอลนีโญในระยะข้างหน้า รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่จะส่งผลต่อประเภทพืชที่ได้รับความเสียหายด้วย โดยเอลนีโญกระทบทั้งไทยและต่างประเทศ จึงเกิดมาตรการเพื่อรองรับภัยแล้ง อาทิ อินเดียงดส่งออกข้าวชั่วคราวกลายเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทย
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเอลนีโญแม้จะกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์และประมง แต่ก็ยังเป็นโอกาสของไทย เพราะไทยถือเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารชั้นนำแนวหน้าของโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว (อันดับ 2 ของโลก) ปลากระป๋อง (อันดับ 1 ของโลก) มันสำปะหลัง (อันดับ 1 ของโลก) และสัปปะรดกระป๋อง (อันดับ 1 ของโลก) ซึ่งหากไทยเร่งรีบทำการตลาดเชิงรุก จะเป็นโอกาสในการส่งออกไทยฟื้นคืนได้ แต่ก็มีความท้าทายสำคัญคือ ผลผลิตการเกษตรเราจะมีมากพอสำหรับส่งออกหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าพื้นที่การเกษตรและผลผลิตได้รับความเสียหายจากปรากฏการณ์เอลนีโญ นี่จึงเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง
สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนต่อต่อการแก้ไขปัญหาเอลนีโญ นั้นทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน( กกร.) ได้มีการทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2566 ที่ผ่านมาเสนอให้เร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง ทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว
โดยเสนอภาครัฐควรบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว เร่งจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ จัดการน้ำให้เพียงพอเพื่อไม่ให้กระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรและกระทบต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกหลักของประเทศ อาทิ ข้าว น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพดหวาน เป็นต้น