นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ต้องใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการทำงานให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะอาหาร ที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ต้องจัดการอย่างเป็นระบบภายใต้หลักคิดการมีส่วนร่วม และบูรณาการของภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาชน ทำงานร่วมกันโดยมุ่งหวังความยั่งยืน
นายวัฒนพงษ์ สุกใส ผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต (ทสจ.) กล่าวว่า เรื่องกนี้สอดคล้องกับแผนงานการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด ของจังหวัดภูเก็ต ที่ ทสจ.ได้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำแผนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และแผนการปรับตัวต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการจัดการประชุมและตั้งคณะทำงานแล้ว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานคณะทำงาน และ ทสจ.ภูเก็ตเป็นเลขาฯ
ทั้งนี้ การจัดการขยะอาหารอยู่ในภาคส่วนหนึ่งของ 5 ภาคส่วน ที่จะดำเนินการในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจังหวัดภูเก็ต มีทั้งภาคพลังงาน ภาคขนส่ง ภาคจัดการของเสีย ภาคเกษตร ภาคป่าไม้ และภาคอุตสาหกรรม
“จากข้อมูลตัวเลขของจังหวัดภูเก็ตขณะนี้ ในฐานปี 2562 มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนของจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 3,100,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2030 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะอยู่ที่ประมาณ 4,600,000 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์
โดยแผนของจังหวัดภูเก็ตตั้งเป้าไว้ที่ 440,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็นเป้าหมายทั้งจังหวัดในการลดก๊าซเรือนกระจก คือ 9.51% ต้องทำให้ได้ในปี 2030 ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ขับเคลื่อนกันมารองรับการสอดคล้องแผนพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดที่จะต้องขับเคลื่อนกันไป” นายวัฒนพงษ์กล่าว
ทางด้านผู้แทนสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การจัดการขยะ ในจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบัน ด้วย เตาเผาขยะ มีปริมาณนับพันตันต่อวัน หลังจากคัดแยกขยะแล้ว 50% เป็นขยะอาหาร จึงมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดการกับเตาเผา ขยะ ถ้าแยกขยะส่วนนี้ออกมาได้ ให้มากที่สุดอาจจะไม่ 100% ค่าใช้จ่ายก็จะลดลงอีกเยอะ
ในฐานะเป็นงานวิชาการจะวางแผนงานวิชาการ 2 แบบ คือ 1.ฮาร์ดแวร์ และ 2.ซอฟต์แวร์ ซึ่งฮาร์ดแวร์ คือ อบจ.ภูเก็ตมีโรงหมักปุ๋ย จะให้มีความร่วมมือกันกับเทศบาลนครภูเก็ตให้จัดการขยะอาหารรับไปจัดการโดยตรงที่โรงหมักปุ๋ยหรือชุมชน อาจจะมีชุมชนกะทู้หรือศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม ส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์ จะทำแพลตฟอร์มให้กับจังหวัดภูเก็ต สามารถเข้าไป เติมข้อมูลได้ว่าทั้งโรงแรมหรือร้านค้าปลีกร้านค้าย่อยห้างสรรพสินค้ามีอาหารส่วนเกินที่ยังมีคุณภาพสูงปริมาณเท่าไร ซึ่งภาคโรงแรมอาจเข้าไปขอข้อมูลนี้
ส่วนหนึ่งคือแพลตฟอร์มนี้จะมองเห็นซึ่งกันและกันคือคนที่จะรับอาหารส่วนเกิน กลุ่มเปราะบาง โรงเรียน ที่ต้องการอาหารส่วนเกินตรงนี้ก็ไปรับได้ เดิมประสานกับมูลนิธิ SOS ไว้อยู่แล้ว ส่งตรงถึงผู้รับ ถ้ามูลนิธิพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน เข้ามาสอดรับตรงนี้อาจจะมีที่เก็บจากพักอาหารนำส่งอย่างรู้คุณค่ามากที่สุดท้ายและขยะอาหารภายใต้แพลตฟอร์มนี้ จะสามารถคำนวณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จะตอบโจทย์ได้ทั้งหมดกลายเป็นภูเก็ตจะเป็นจังหวัดนำร่อง
สำนักงานฯ ได้ของบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมจะให้จังหวัดภูเก็ตเป็นโมเดล เรื่องการจัดการขยะอาหารส่วนเกินและขยะอาหารในพื้นที่จังหวัดและโมเดลนี้ออกมาแล้ว ประเทศหรือจังหวัดอื่นสามารถนำไปใช้ต่อประยุกต์ใช้ในเมืองของตัวเองและท้ายที่สุดจะเป็นเมืองที่น่าอยู่จังหวัดภูเก็ตก็จะเป็นจังหวัด low Carbon
ทางด้าน นายวิทยา เกตุชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต กล่าวว่า ในเรื่องการจัดการขยะอาหาร เป็นส่วนหนึ่งที่จะจัดการสิ่งแวดล้อมให้สวยงาม ถ้าดูผลการวิจัยเรื่องของอากาศบริสุทธิ์ออกซิเจนมีผลต่อความฉลาดของเด็ก ในต่างประเทศหลายประเทศมีเครื่องวัดออกซิเจนอยู่หน้าสถานศึกษา
“สิ่งที่ทางมูลนิธิพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน เสนอมาทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ตยินดีมากในการสร้างความตระหนักของคนให้เรียนรู้ และบูรณาการให้เกิดความยั่งยืนคือความสำเร็จในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมของภูเก็ตโมเดลที่ช่วยกันสร้างการเชื่อมโยงเป็นระบบสร้างความยั่งยืนให้กับภูเก็ต” นายวิทยา กล่าว
นายทิวัตถ์ สีดอกบวบ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า อบจ.ภูเก็ต มีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ทำโรงกำจัดขยะอาหาร ปัจจุบันเดินเครื่องอยู่แล้วอยู่ที่ศูนย์จักรกลใหญ่ ที่พื้นที่ตำบลรัษฎา รับขยะอาหารและทำออกมาเป็นปุ๋ย ทำออกมาเป็นดินที่จะมาปกคลุมดินอีกครั้งหนึ่งเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรต่างๆ
“เรื่องโรงกำจัดขยะอาหาร อยากให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดภูเก็ตได้ศึกษา เพื่อเป็นโมเดล เพื่อให้ ท้องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวตั้งงบประมาณกำจัดขยะอาหารแต่ละพื้นที่ เพราะลดค่าขนส่ง ลดปัญหาการจราจรลดอุบัติเหตุต่าง ๆ ลดการเกิดก๊าซคาร์บอน ที่จะต้องขนมาจากระยะไกล ๆ อบจ. ภูเก็ตให้ความร่วมมือมีความยินดี สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน
นอกจากนี้ อบจ.ภูเก็ตตระหนักในเรื่องของการลดคาร์บอน โดยการตั้งโครงการใช้รถอีวีบริการสาธารณะ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ TOR จากนั้นจะมีการจัดซื้อ ซึ่ง อบจ.ภูเก็ตพยายามที่จะให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการลดคาร์บอนในเมืองภูเก็ต อบจ.ภูเก็ต ได้สร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า เพื่อชักจูงให้ประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้ารถ EV เพราะว่าจะใช้ง่าย มีการชาร์จเร็ว” นายทิวัตถ์กล่าว