กระทรวงทรัพยากรจัดงานวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติภายใต้คำขวัญร่วมใจกันรักษ์พี่น้องและพ่อแม่พะยูนของไทยเพื่อบูรณาการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 นาฬิกา ที่ลานเอนกประสงค์ศูนย์จราจรสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกระบี่ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาเป็นประธานเปิดการจัดกิจกรรมงานวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 ระลึกถึงมาเรียมและยามีล ภายใต้คำขวัญร่วมใจกันรักษ์พี่น้องและพ่อแม่พะยูนของไทย จัดขึ้นวันที่ 16 – 17 สิงหาคม 2566 ในงานประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ แสดงผลงาน การแสดงดนตรีประกอบการให้ความรู้ การเสวนาวิชาการ การออกบูทของชุมชนเครือข่าย และกิจกรรมปลูกฟื้นฟูหญ้าทะเลในพื้นที่อ่าวน้ำเมา เพื่อเพิ่มแหล่งอาหารพะยูน โดยมีนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นำหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่เข้าร่วม 500 คน
ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไปในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และทั่วประเทศได้เห็นความสำคัญร่วมบูรณาการและมีส่วนร่วม ดำเนินงานด้านอนุรักษ์พะยูนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และที่สำคัญเพื่อจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการดำเนินโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดาริ ให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบโดยทั่วกัน
โดยนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวรายงานการจัดกิจกรรมดังกล่าวว่า ด้วยคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ทรงห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดกับพะยูนในประเทศไทย โดยรับสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หาแนวทางจัดการอนุรักษ์พะยูนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และเป็นที่มาของการจัดทาแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติขึ้น ในปี 2563 เป็นต้นมา และให้นำการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดารินั้น
ในปี 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สนองพระดาริ โดยร่วมกับจังหวัดกระบี่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทัพเรือภาคที่ 3 มูลนิธิอันดามัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่องานด้านอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเลของไทย
นายอภิชัย กล่าวอีกว่า จังหวัดกระบี่มีพะยูนเป็นอันดับสองรองจากจังหวัดตรัง จากการสำรวจปี 2566 มีพะยูนประมาณ 30 ตัว ในประเทศไทยมีแหล่งหญ้าทะเล และมีพะยูนอาศัยรวม 13 พื้นที่ โดยจังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่ที่พบมาเรียม และยามีล เกยตื้น ที่ผ่านมาได้มีการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล ทั้งด้านการคุ้มครอง การเฝ้าระวัง การสร้างจิตสานึก การฟื้นฟู และบริหารจัดการแหล่งอาศัยพะยูนมาอย่างต่อเนื่อง จนประสบผลสำเร็จมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดียิ่ง พื้นที่ของจังหวัดกระบี่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2558 มาตรา 22 ด้านการรับรู้เรื่องของพะยูนและหญ้าทะเลของประชาชนทั่วไปในพื้นที่ยังจำกัดอยู่เฉพาะผู้เกี่ยวข้อง
โอกาสนี้นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทุกท่านคงจะจำกันได้ในช่วงเกิดเหตุการณ์ลูกพะยูนมาเรียมเกยตื้นวันแรกๆ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งให้ความช่วยเหลือดูแลมาเรียมอย่างเต็มความสามารถ และต่อมาก็มีเรื่องของยามีล ทั้งสองเหตุการณ์ทรงเฝ้าติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใย ต่อมาทรงให้หาแนวทางป้องกันและหาทางช่วยเหลือพะยูนหากมีกรณีดังกล่าวเกิดอีก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ระดมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันและเป็นที่มาของการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยปี 2563 ทุกหน่วยงานได้สนองพระดาริจัดทำโครงการและร่วมกันอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดาริของพระองค์ท่าน
นายพิชิต กล่าวอีกว่า จากแนวพระดำริการช่วยเหลือพะยูนในวันนั้น จึงเป็นที่มาของการจัดสร้างโรงพยาบาล และศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากขึ้นในหลายแห่ง เพื่อเป็นสถานที่ช่วยเหลือดูแลพะยูนและสัตว์ทะเลหายากทุกชนิดที่เกยตื้น นำมารักษาการป่วย หรือบาดเจ็บแล้วปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เรื่องของพะยูนและหญ้าทะเลนั้นได้ดำเนินงานตามแผนจนประสบผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม วันนี้แผนอนุรักษ์พะยูนมีกลไกคณะกรรมการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเลในระดับจังหวัด รวมถึงจังหวัดกระบี่ด้วย วันนี้มีพะยูนเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2563 จำนวน 250 ตัว เป็น 280 ตัว และเป้าหมายในปี 2568 ประเทศไทยจะมีพะยูนเพิ่มขึ้นเป็น 300 ตัว เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ย้ำเตือนให้ร่วมมือกันดูแลพี่ น้อง พ่อ แม่ ของมาเรียม และยามีล ร่วมกันดูแลพะยูนทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการดูแลแหล่งหญ้าทะเล แหล่งอาหาร และแหล่งอาศัยของพะยูน ระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิตของประชาชนและของชุมชน โดยมีเป้าหมายการอนุรักษ์พะยูน รวมถึงการรักษาความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย
กระบี่