ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่บริเวณสะพานชมธรรมชาติริมคลองอีแอด จังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วยนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) นางดาวรุ่ง ใจจริง ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน นางสาวอาทิตา จุ้ยจู่เอี้ยม เลขานุการกรมนายสืบสกุล หนูไชยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ตัวแทนบริษัทผู้รับจ้าง และสื่อมวลชน สืบเนื่องจากประเด็นข้อมูลจากเพจเฟสบุ๊คปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา กรณี สะพานชมธรรมชาติริมคลองอีแอด ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มูลค่าการก่อสร้าง 26,061,000 บาท สร้างเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2565 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด แต่ในปัจจุบันกลับมีสภาพทิ้งร้าง ชำรุดเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ และไม่ได้รับการซ่อมแซม
ดร. ยุทธพล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ ตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า บริเวณบางส่วนของสะพานมีการทรุดตัว 2 จุด ชำรุดเสียหาย 4 จุด ศาลาที่พักประตูหน้าต่างกระจกแตกเสียหาย ห้องสุขาใช้งานไม่ได้ จากการสำรวจร่วมกัน โดยมีอาจารย์ทางด้านวิศวกรรมโยธาร่วมด้วย จากการที่ประเมินด้วยสายตาคาดว่าสะพานส่วนที่ชำรุดได้รับผลกระทบจากคลื่นซึ่งเกิดจากการสัญจรของเรือประมงขนาดใหญ่ที่เข้าออกคลองนี้เป็นจำนวนมากในแต่ละวันทำให้เกิดการเคลื่อนของฐานสะพาน ส่วนศาลาเอนกประสงค์จุดที่เสียหายเกิดจากการทุบกระจก งัดแงะ จากข้อมูลทางเอกสารและคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (สทช.3) ได้ให้ข้อมูลว่า การสร้างสะพานชมธรรมชาติ อาคารศาลาที่พักระหว่างเส้นทางชมธรรมชาติ และห้องสุขาที่ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวนี้ เป็นโครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลตะวันตก กิจกรรมพัฒนาภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ป่าชายเลน ภายใต้โครงการป่าในเมือง ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมีบริษัท ติณ ติณ เทรดดิ้ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้รับจ้าง และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2563 ต่อมาประสบปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาการทำงานไม่เป็นเวลา เพราะสถานที่ก่อสร้างมีน้ำขึ้น-ลงตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการขยายระยะเวลาการดำเนินการออกไป และดำเนินการสร้างเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 แต่จากการดำเนินการก่อสร้างที่ต้องขยายระยะเวลาออกไปเป็นระยะเวลานาน ทำให้งบประมาณถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย ส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายเงินงบประมาณให้กับผู้รับจ้างได้อีก 9 งวด เป็นเงิน 12,795,390 บาท ต่อมากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณโอนเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อนำไปจ่ายชดเชยงบประมาณรายจ่ายที่พับไปของรายการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ทำให้สามารถชำระเงินให้กับผู้รับจ้างได้อีก 5 งวด เป็นเงิน 6,294,493.72 บาท ทำให้ขณะนี้ ยังคงค้างชำระผู้รับจ้างอีก 4 งวด เป็นเงิน 6,500,869.28 บาท
รรท.อทช. กล่าวว่า เมื่อเกิดการชำรุดเสียหายบางส่วน ทางสทช. 3 ได้ประสานติดตามผู้รับจ้างให้เข้าดำเนินการซ่อมแซมให้เรียบร้อย และได้รับการตอบกลับจากผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ว่าทางบริษัทได้รับทราบปัญหา และจะเร่งดำเนินการซ่อมแซมโดยเร็ว ซึ่ง กรม ทช. ได้กำชับให้ สทช. 3 ดำเนินการประสานติดตามให้ทางบริษัทผู้รับจ้างเร่งเข้าไปซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดให้เรียบร้อย พร้อมให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์ รวมถึงประสานจังหวัดเพชรบุรีเพื่อจัดตั้งงบประมาณส่วนที่ยังขาดอยู่จำนวน 6,500,869.28 บาท ให้ผู้รับจ้าง และเมื่อซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเรียบร้อยแล้ว ให้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมต่อไป “นายอภิชัย กล่าว”