มูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เปิดงานประเพณีทิ้งกระจาด ประจำปี 2566 ซึ่งมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศมารอรับของแจกกว่า 2 พันคน โดยในปีนี้ทางมูลนิธิได้เตรียมข้าวสารคนละ 5กิโลกรัม ยาสามัญประจำบ้าน น้ำปลา น้ำมันพืช เกลือ รวมกว่า 3,000 ชุด ไว้แจกจ่ายให้ประชาชนทุกคนที่มาร่วมงาน ซึ่งจะแจกให้เป็นรายคนเลยไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และคนพิการ ในงานจะมีอาสาสมัครของมูลนิธิมาคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุและคนพิการ
ที่ มูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นายจีระชัย ไกรกังวาร นายกเทศมนตรีเมืองวารินชำราบ เป็นประธานเปิดงานประเพณีทิ้งกระจาด ประจำปี 2566โดยมีนายเทียมชัย ประกิตชัยวัฒนา ประธานมูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน อ.วารินชำราบ อุบลราชธานี และนายวินัย เหลืองรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษามูลนิธิฯ พร้อมสมาชิกให้การต้อนรับ ซึ่งมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศมารอรับของแจกกว่า 2 พันคน โดยบางรายเดินทางด้วยรถไฟมาไกลจาก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ นายวินัย เหลืองรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษามูลนิธิฯ กล่าวมูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน จัดประเพณีทิ้งกระจาด หรือซิโกว ต่อเนื่องกันมายาวนาน 50 ปีแล้ว เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วและวิญญาณไร้ญาติ ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติ พิธีทิ้งกระจาด หรือเทกระจาด นั้น เป็นพิธีกรรมจีนอย่างหนึ่ง ที่นิยมจัดขึ้นในเทศกาลต่างๆ ของชาวจีน หรือเรียกกันว่า ซิโกว ซึ่งเป็นประเพณีที่เปิดโอกาสให้ลูกหลานได้ทำบุญใหญ่ และถึงตรงแด่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และสัมภเวสีไร้ญาติทั้งหลาย เชื่อกันว่า ในเดือนเจ็ดนี้ เป็นช่วงที่ประตูนรกเปิด เพื่อให้ดวงวิญญาณทั้งที่มีญาติและไม่มีญาติ ได้มาเยือนโลกมนุษย์ เพื่อมาเยี่ยมลูกหลาน (สำหรับพวกที่มี) และเพื่อขอส่วนบุญ (สำหรับพวกที่ไร้ญาติ) สำหรับพิธีกรรมนั้น จะเริ่มจากอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสวดมนต์ เวียนธูป บางที่ 7 วัน บางที่ 3 วัน จนถึงวันสุดท้าย เป็นพิธีโปรดสัตว์ และเผากระดาษเซ่นไหว้ ซึ่งพับเป็นภูเขาเงิน ภูเขาทอง ให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับและดวงวิญญาณไร้ญาติด้วย โดยในปีนี้ทางมูลนิธิได้เตรียมข้าวสารคนละ 5กิโลกรัม ยาสามัญประจำบ้าน น้ำปลา น้ำมันพืช เกลือ รวมกว่า 3,000 ชุด ไว้แจกจ่ายให้ประชาชนทุกคนที่มาร่วมงาน ซึ่งจะแจกให้เป็นรายคนเลยไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และคนพิการ ในงานจะมีอาสาสมัครของมูลนิธิมาคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุและคนพิการ นายวินัย เหลืองรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษามูลนิธิฯ กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเวียนกลับมารับของแจกซ้ำทางมูลนิธิได้ให้ผู้รับของแจกแล้วเอานิ้วจุ่มหมึกแดงเพื่อเป็นสัญญลักษณ์ด้วย นอกจากนี้หากประชาชนที่มารับของแจกเกินจำนวนสิ่งของที่เตรียมไว้ทางมูลนิธิยังได้เตรียมเงินสดไว้ให้เพิ่มเติมอีก 2 แสนบาทด้วย
สุธน ประกอบพร/อุบลราชธานี