แฉราคาไม้พะยูงโรงเรียนคำไฮวิทยาขายนายหน้าต่ำกว่าราคาตลาด 28-56 เท่าตัว ด้าน ผวจ.กาฬสินธุ์ ย้ำ ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ปฏิบัติหน้าที่ขัดคำสั่งการจังหวัดและสวนทางกับคำสั่งการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุ ของอธิบดีกรมธนารักษ์ ตามแผนปฏิบัติรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำส่งเรื่องให้ ปปช.- สตง.-ปปท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ขณะที่ ผู้การตำรวจกาฬสินธุ์ เร่งติดตามนายหน้าซื้อไม้พะยูงโรงเรียนมาสอบปาก ส่วนปัญหาการขโมยไม้ของกลางจะมีข่าวใหญ่จ่อจับยกขบวนเร็วๆนี้
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสว่ามีบุคคลของรัฐไม่น้อยกว่า 6 คน เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จากแนวทางการสอบสวนผุ้เกี่ยวข้องให้การปฏิเสธ ถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าของคดี แต่กลับมีปัญหาการตัดไม้พะยูงรายวันในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะที่โรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีการเปิดให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น ในราคา 1.53 แสนบาท ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันที่ 20 สิงหาคม 2566 รายงานแจ้งว่า นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้กำชับ ปปช.- สตง.-ปปท.รวมไปถึง ตำรวจให้เร่งดำเนินการเอาผิดและจับกุมเพื่อยุติวงจรอุบาทว์ทั้งขบวนการ ล่าสุดจัดทีมเฉพาะกิจ โดยการนำของ นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงปมไม้พะยูงโรงเรียนคำไฮวิทยา 22 ต้น ประมูลขายให้นายหน้าเพียง 153,000 บาท ปัญหาไม้พะยูงเกิดขึ้น 2 คดี คือ 1.เป็นกรณีไม้พะยูงจำนวน 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงาน ทต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ถูกขบวนการมอดไม้ขนย้ายไป แต่แหล่งข่าววงในระบุว่ามีการซื้อขายกันราคา 290,000 บาท และกรณีที่ 2.เป็นกรณี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต2 ร่วมกับ ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ อนุญาตให้ นายหน้าเข้าประมูลไม้พะยูงโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ตัดขายไป 22 ต้น แต่สามารถตัดได้เพียง 17 ต้น เนื่องจากไม้เต็มรถสิบล้อก่อน ในราคา นำเงินเข้าหลวงเพียง 153,000 บาท
รายงานแจ้งว่า ได้มีการเผยแพร่คำสั่งของกรมธนารักษ์ ถึงผู้อำนวยการกองบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานครและธนารักษ์พื้นที่ทุกพื้นที่ กรณีการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุให้สอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ โดยกรมธนารักษ์ ได้มีหนังสือ ที่ กค 0305/ว 20 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สั่งการธนารักษ์พื้นที่ให้ถือปฏิบัติในการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุ โดยมีรายละเอียดว่า เพื่อให้การบริหารจัดการที่ราชพัสดุสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับนโยบายรัฐบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
จึงกําหนดให้มีการอนุรักษ์ต้นไม้ และป่าไม้ในเขตพื้นที่ที่ราชพัสดุ โดยขอให้หลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ใหญ่และดําเนินการใดๆ ในที่ราชพัสดุที่มี สภาพเป็นป่าไม้หนาแน่น ยกเว้นในกรณีที่มีเหตุผลและความจําเป็นอย่างยิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น กีดขวาง การใช้พื้นที่เพื่อปลูกสร้างอาคาร หรือกีดขวางสายไฟฟ้า หรืออาจโค่นล้มจนเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือเป็นการตัดแต่งต้นไม้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสวยงาม เป็นต้น หากมีเหตุผลความจําเป็น ต้องตัดโค่นต้นไม้หรือป่าไม้นอกเหนือจากกรณีดังกล่าว ให้รวบรวมรายละเอียดข้อเท็จจริงรวมทั้งเหตุผลความจําเป็น โดยเปรียบเทียบผลดีและผลเสียในการดําเนินการ พร้อมทั้งความเห็นที่เกี่ยวข้องให้กรมธนารักษ์พิจารณาอนุญาต ตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
กรมธนารักษ์ได้อนุมัติให้ดําเนินโครงการสงวนและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในที่ราชพัสดุเป็นโครงการสําคัญ มีระยะเวลาดําเนินการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจก สงวน รักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ราชพัสดุ อนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสอดรับ กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานที่ปกครอง ดูแล บํารุงรักษาที่ราชพัสดุ ได้ตระหนักถึงความสําคัญดังกล่าว จึงมีแนวคิดในการนําที่ราชพัสดุมาสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ด้วยการสงวนและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในที่ราชพัสดุ เพื่อสร้างสมดุลทางระบบนิเวศ เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีสวยงาม ตลอดจนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในเมืองและชุมชน
กรมธนารักษ์พิจารณาแล้ว เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืนและเป็นการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวตามนโยบายของทางราชการ จึงขอกําชับให้ถือปฏิบัติตามหนังสือ ที่ กค 0305/ว 20 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 และขอให้พิจารณาถึงเหตุผลและความจําเป็น และผลได้ผลเสียต่างๆ ให้รอบคอบก่อนตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุตามนัยหนังสือดังกล่าวโดยเคร่งครัดด้วย
ทั้งนี้ เป็นนโยบายของรัฐบาล ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงทรัพยากรป่าไม้และต้นไม้ โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งการให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ กำกับดูแลบริหารจัดการที่ราชพัสดุในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยหลีกเลี่ยงการตัดไม้ที่อยู่ในที่ราชพัสดุ ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงมิได้ โดยให้รวบรวมรายละเอียด ข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเหตุผลและความจำเป็นฯ
อย่างไรก็ตาม กรณีการประมูลไม้พะยูงโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 22 ต้น ในราคา 153,000 บาทนั้น ล่าสุด นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้แต่งตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในเชิงลึกในลำดับต่อไป โดยยืนยันกวดขันอย่างจริงจัง และลงโทษทุกภาคส่วนที่มีเอี่ยว ในการตัดไม้พะยูงในพื้นที่ธนารักษ์อย่างเฉียบขาด
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ได้มีการเปิดเอกสาร หลักฐานการชำระเงินจากนายทุนคนหนึ่ง เพื่อซื้อไม้พะยูงจำนวน 22 ต้น และตอไม้จำนวน 2 ตอ กับ โรงเรียนคำไฮวิทยา ระบุจำนวนเงิน 1.53 แสนบาท โดยมีการลงชื่อผู้รับเงินอย่างถูกต้อง ตามเอกสารยังมีการคิดราคาประเมินขนาดความโตมาคำนวณปริมาตรไม้โดยใช้สูตร (โต คูณ โต คูณ สูง คูณ7.96 บวก 100,000)จะได้ปริมาตรเป็นรายต้น รวมจำนวน 22 ต้น 11 นาง ปริมาตรวัดได้ 17.22 ลูกบาศก์เมตร ตกลงประเมินซื้อขายเฉี่ยราคาเมินลูกบากศก์เมตรละ 10,000 บาท ซึ่งเอกสารวิธีการซื้อขายและใบเสร็จรับเงินดังกล่าว ได้ถูกส่งต่อเพื่อรวบรวมในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากกรณีนี้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ไม้พะยูงเป็นไม้มีค่ามีราคาและอยู่ในที่ราชพัสดุ ซึ่งราคาที่ขายออกไปเพียง 1.53 แสนบาทจึงเป็นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล
จากการที่ผู้สื่อข่าวติดตามปัญหานี้ แหล่งข่าวด้านความมั่นคงยังได้นำเอกสารการซื้อขายไม้พะยูงซึ่งเป็นไม้วิธีคิดราคากลางไม้แปรรูปหวงห้าม ซึ่งไม้พะยูง อยู่ในประเภท ก ไม้หวงห้ามธรรมดา หากเป็นไม้พะยูง แดงจีน (Dolbergia cochinchensis) ถือเป็นชั้นไม้คุณภาพดี ชนิดไม้เป็นที่นิยมของตลาด ราคาไม้ท่อนจะตกอยู่ที่ 250,000 (บาท/ลบ.ม.) หากเป็นไม้ที่แปรรูปแล้ว จะอยู่ที่ 500,000 (บาท/ลบ.ม.) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับราคาที่ขายครั้งนี้ของ โรงเรียนคำไฮวิทยา ซึ่งการซื้อขายอยู่ที่ 17.22 ลูกบาศก์เมตร เมื่อนำมาคูณกับราคาไม้ท่อนจะตกที่ราคา 4,305,000 บาท (สี่ล้านสามแสนห้าพันบาท) แต่หากเป็นราคาไม้พะยูงแปรรูป จะมีราคาสูงถึง 8,610,000 บาท (แปดล้านหกแสนหนึ่งหมื่นบาท) ที่วัดตามปริมาตรไม้มาคำนวณและพบว่า มีการซื้อขายต่ำกว่าท้องตลาดมากถึง 28-56 เท่าตัว ถือเป็นราคาที่ต่ำกว่าตลาดหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน โดย พล.ต.ต.สุวรรณ์ เชี่ยวนาวินธวัช ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ ได้ติดต่อให้ นายกหน้ารายนี้เข้ามาให้ปากคำแล้ว และคาดว่าจะมีข่าวใหญ่ในการจับยกขบวนการขโมยไม้พะยูงของกลางที่หน้าเสาธง สำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ เร็วๆนี้
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ระบุว่า ปัญหาการตัดไม้พะยูง ภายในโรงเรียนคำไฮวิทยา นั้น ได้รับรายงานเบื้องต้นจากนายอำเภอหนองกุงศรี ทราบว่า เรื่องนี้ไปเกี่ยวพัน 3 ฝ่าย ที่อนุญาตกันเอง ประกอบด้วย 1.ผอ.โรงเรียนคำไฮวิทยา 2.ผอ.เขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 และ 3. ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ อนุญาตให้ตัดเพื่อหาเงินเข้าหลวง เนื่องจากตามระเบียบกรมธนารักษ์แล้ว การจะตัดไม้ในเขตพื้นที่ราชพัสดุได้นั้น มีข้อยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้รวบรวมรายละเอียดข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเหตุผลและความจำเป็น โดยเปรียบเทียบผลดีและผลเสียในการดำเนินการ พร้อมทั้งความเห็นที่เกี่ยวข้องแล้วส่งให้กรมธนารักษ์พิจารณาความเหมาะสมเป็นรายกรณี
โดยกรณีนี้ เรื่องการตัดไม้พะยูงที่โรงเรียนคำไฮวิทยานั้น สาเหตุเกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทางธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ออกหนังสืออนุญาตให้พ่อค้าไม้พะยูงมาตัด ทั้งที่มีหนังสือข้อสั่งการทางจังหวัดห้ามตัด และมีการขนไม้พะยูงไปเต็มรถสิบล้อ โดยมีหลักฐานปรากฏเป็นรูปถ่ายโดยเฉพาะเอกสารเป็นใบเสร็จรับเงินเพียง 1.53 แสนบาท เท่านั้น ซึ่งก็ได้ย้ำให้ ปปช.-สตง.-ปปท. และตำรวจเร่งสอบสวนเอาผิดทั้งหมด
สมบูรณ์ นาสาทร ข่าวกาฬสินธุ์ รายงาน