สช. ผนึกภาคีเครือข่ายชวนทำความเข้าใจ “สุขภาวะทางปัญญา” หนึ่งในมิติด้านสุขภาพที่สำคัญ ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ฉบับ 3 มุ่งให้ผู้คนในประเทศยกระดับร่างกาย-จิตใจจากภายใน ใช้สติปัญญาสร้างความเข้าใจตนเอง-ผู้อื่น สู่การฝ่าวิกฤต คลี่คลายความขัดแย้งในสังคม
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566 สำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเสวนา “การขับเคลื่อนสุขภาพทางปัญญาผ่านธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565” ภายในการประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 “สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม” ณ ห้อง TK Hall@sasin จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 16 ปีที่แล้ว นับว่ามีหลักคิดที่ก้าวหน้าไปไกลเรื่องการให้นิยามคำว่าสุขภาพ ที่ครอบคลุม 4 มิติ คือ กาย จิตใจ สังคม และปัญญา ที่ต้องมีความเชื่อมโยงกันอย่างสมดุล ซึ่งหากพิจารณาในมิติของ ‘สุขภาพทางปัญญา’ อาจพบว่ายังมีปัญหาเรื่องการตีความที่ไม่ชัดเจน และคนก็ยังมีความเข้าใจในเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้ หากพูดถึงด้วยคำว่า ‘Spiritual Health’ อาจอธิบายว่าเรื่องนี้เป็นวิชชา หรือความรู้แจ้ง เป็นความสามารถที่จะเข้าใจตนเอง เข้าใจความหมายของชีวิต และสามารถกลับมาเติมเต็มความเป็นมนุษย์ ซึ่งก็หลักการของสุขภาพทางปัญญา ทว่าที่ผ่านมา คำว่า Spiritual Health ยังไม่ได้ถูกยอมรับให้อยู่ในนิยามสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องจากเป็นที่ถกเถียงถึงประเด็นทางการเมือง เพราะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ทำให้มุมมองสุขภาพของ WHO ยังมุ่งหนักไปที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ และระบบสาธารณสุขเรื่อยมา
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มุมมองด้านการส่งเสริมสุขภาพในระดับโลกได้หันมาใช้คำว่า ‘Well-being’ หรือความเป็นอยู่ที่ดี มากกว่าคำว่า ‘Health’ หรือสุขภาพเพียงอย่างเดียว นั่นสะท้อนถึงความสำคัญและทำให้ Spiritual Health กลับเข้ามามีบทบาทที่มากขึ้นด้วย เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ใน ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 อันเป็นกรอบทิศทางระบบสุขภาพของประเทศฉบับล่าสุด ก็ได้ยกระดับเรื่องของสุขภาพทางปัญญาขึ้นมาเป็นหนึ่งหมวดสาระสำคัญ
“ภาพที่เราอยากเห็นคือการสร้างเสริมสุขภาพทางปัญญา ให้เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชน เพราะถ้าเรามีความเข้าใจตัวเอง มีความเข้าใจคนอื่น เกิดความเอื้อเฟื้อต่อกัน ปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งต่างๆ ก็จะสามารถคลี่คลายได้อย่างสร้างสรรค์ ตัวอย่างหนึ่งที่ไทยทำได้ดีอยู่แล้ว ก็คือการมีเครือข่ายจิตอาสา อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ เมื่อเกิดวิกฤตทุกคนก็ได้สลายความขัดแย้ง แล้วเข้ามาช่วยกันด้วยใจ ไม่หวังอะไรตอบแทน ซึ่งนี่ก็เป็นรูปธรรมของสุขภาพทางปัญญา” ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องของสุขภาพทางปัญญาอาจเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากการนั่งอ่านตำรา แต่ต้องอาศัยการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ดังนั้นวิธีการสำคัญจึงเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันให้กับผู้คนในสังคม สร้างการยอมรับและเรียนรู้ถึงการพัฒนาจิตใจ สร้างความมั่นคงผาสุกจากภายใน และในท้ายสุดก็อยากให้เด็กและเยาวชนได้มองเห็นทางนี้ เป็นทางเลือกของการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประเทศพัฒนาไปได้
พระเทพเวที, รศ.ดร. (พล อาภากโร.ปธ 9) เจ้าคณะภาค 6 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และเจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม กล่าวว่า เรื่องของสุขภาวะ หรือสุขภาพที่ครอบคลุม 4 มิติ แม้จะมีความพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้มานาน แต่ปฏิบัติการของหน่วยงานไทยที่เกิดขึ้นมักอยู่เพียงระดับสุขภาพกาย การลดพุง ลดโรค เท่านั้น ซึ่งในขณะที่เรากำลังจะเข้ามาพูดถึงสุขภาพทางปัญญา หากอันที่จริงพระพุทธเจ้าได้ออกมาตรัสในเรื่องนี้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน
“ในขณะที่ระดับโลกเขาเริ่มมาใช้คำว่า Well-being หรือสุขภาพองค์รวมที่ครอบคลุมทุกอย่าง แต่อันที่จริงในฝั่งโลกตะวันออกของเรา พระพุทธเจ้าท่านคือหนึ่งในผู้นำด้านนี้มานานแล้ว โดยเฉพาะการมุ่งเน้นไปที่เรื่องจิตและปัญญา เพราะเมื่อบรรลุถึงปัญญาแล้ว สุขภาพมิติอื่นๆ ก็จะตามมา เพราะปัญญาเป็นเรื่องของการตระหนักรู้ การตื่นรู้ การรู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งนี้ก็บรรจุอยู่ในเนื้อหาของ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ภายใต้หลักการของภาวนา 4” พระเทพเวที กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องของปัญญา คนจำนวนมากยังอาจจับต้นชนปลายกันไม่ถูก เมื่อพยายามนำสิ่งที่เป็นนามธรรม มาพูดให้เป็นรูปธรรมอยู่ในบริบทของ 4 มิติทางสุขภาพ บนระนาบเดียวกัน หากอันที่จริงแล้วปัญญาควรอยู่ในสถานที่สูงกว่าและครอบคลุมมิติอื่นทั้งหมด เพราะสุดท้ายต้องเป็นผลมาจากการฝึกกาย จิต แล้วจึงจะไปเปิดให้เกิดเป็นปัญญาได้ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่มีอยู่ โดยในบริบทของพุทธศาสนา มี 3 ช่องทางที่จะได้มาซึ่งปัญญา คือ 1. สุตมยปัญญา จากการฟัง อ่าน และฝึกฝน 2. จินตมยปัญญา จากการคิด 3. ภาวนามยปัญญา จากการลงมือปฏิบัติ
ขณะที่ ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สุขภาพทางปัญญา เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องถูกให้ความสำคัญเทียบเท่าสุขภาพมิติอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมายังเป็นที่เข้าใจหรือรับรู้ของคนในสังคมค่อนข้างน้อย โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคหลังคือการเกิดเครือข่ายโรงเรียนทางเลือก ที่พยายามนำเรื่องสุขภาพทางปัญญาเข้ามาผนวกอยู่ในมิติทางการศึกษา ให้เด็กได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน