นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงการประกวดราคาการใช้ประโยชน์พื้นที่ บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) และสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี จำนวน 4 สัญญา ว่าสัญญาโครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวนพื้นที่ 47,675 ตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งมีเอกชนซื้อเอกสาร 3 ราย คือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN / บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด และ บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และมีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียง 1 ราย คือ บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัดนั้น ขณะนี้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา รฟท.ได้เปิดข้อเสนอด้านผลตอบแทนเรียบร้อยแล้ว พบว่าบริษัท เปรม กรุ๊ปฯ เสนอผลตอบแทนมาสูงกว่ากรอบที่รฟท.ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจากนี้ รฟท.จะตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียดผลตอบแทน และเชิญบริษัท เปรม กรุ๊ปฯ มาเจรจา จากนั้นจะเสนอผลประกวดราคาต่อคณะกรรมการ รฟท. โดยคาดว่าจะสามารถเสนอคณะกรรมการ รฟท. และลงนามในสัญญากับผู้รับงานได้ภายในเดือนกันยายน 2566
ส่วน 3 สัญญาที่เหลือ คือ 1.สัญญาโครงการยื่นข้อเสนอเพื่อใช้สิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวนพื้นที่ 2,303 ตร.ม. มีเอกชนเข้าซื้อเอกสาร 2 ราย คือ บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB และ บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กำหนดยื่นข้อเสนอวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 แต่ไม่มีเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอ
2.สัญญาโครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี จำนวนพื้นที่ 3,759 ตร.ม. กำหนดยื่นข้อเสนอวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ปรากฎว่าไม่มีผู้ซื้อซองเอกสาร และ 3.สัญญาโครงการยื่นข้อเสนอเพื่อใช้สิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี จำนวนพื้นที่ 2,080 ตร.ม. มีผู้สนใจเข้าซื้อเอกสาร คือ PLANB และ บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กำหนดยื่นข้อเสนอวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 แต่ไม่มีผู้มายื่นข้อเสนอ ทางรฟท.กำลังพิจารณาเพื่อเปิดประกวดราคาใหม่ หลังจากการลงนามในสัญญาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เสร็จสิ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในการเปิดประกวดราคาครั้งใหม่ทั้ง 3 สัญญานี้ รฟท.จะไม่มีการปรับแก้เงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) และหากไม่มีเอกชนเข้ายื่นข้อเสนออีก รฟท.จะพิจารณาให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ รฟท.ถือหุ้น 100% เพื่อดำเนินงานด้านบริหารทรัพย์สินของ รฟท. มาเป็นผู้รับงานพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว