ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สรพ.-อบจ.-สสจ.สกลนคร ร่วม MOU พัฒนาคุณภาพมาตรฐาน รพ.สต. หลังโอนถ่ายสู่ท้องถิ่น
25 ส.ค. 2566

        3 หน่วยงาน กำกับคุณภาพสถานพยาบาลปฐมภูมิ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อยกระดับด้านการสาธารณสุขมูลฐานและบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ นำร่องในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดสกลนคร 6 แห่ง 

        วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร จังหวัดสกลนคร สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร (อบจ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร (สสจ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อยกระดับด้านการสาธารณสุขมูลฐาน และ บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ นำร่องในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หลังมีการเปลี่ยนผ่านถ่ายโอนสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยในการบริการสุขภาพ โดยนำร่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต้นแบบ 6 แห่ง ประกอบด้วย รพ.สต.บ้านแสนพัน, รพ.สต.บ้านนาเพียงใหม่, รพ.สต.บ้านหนองบัวสร้าง, รพ.สต.บ้านห้วยกอก, รพ.สต.บ้านบอน และ รพ.สต.โพธิไพศาล  

      พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า สำหรับการร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นนโยบายและบทบาทความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อยกระดับด้านการสาธารณสุขมูลฐานและบริการ สุขภาพระดับปฐมภูมิ จังหวัดสกลนคร เพื่อทำให้เกิดบริการที่ดี ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาความรู้ด้านระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ จังหวัดสกลนคร โดยใช้กลไกการทำงานเพื่อยกระดับมาตรฐานสาธารสุขระดับปฐมภูมิในจังหวัดสกลนครให้เป็นสถานพยาบาลต้นแบบ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาจังหวัดสกลนครโดยเฉพาะด้านการสาธารณสุข 2. เพื่อเป็นการยกระดับและการพัฒนาศักยภาพขอองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในการบริหารภารกิจด้านสาธารณสุขพื้นฐาน การบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิด้านประโยชน์ และคุณภาพชีวิตของประชาชน 3. เพื่อสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพ และระบบบริการสุขภาพในการพัฒนาด้านปฐมภูมิ  และ 4. เพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อเสนอแนะในทางนโยบายในทางปฏิบัติที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ   
 

      สรพ.เป็นองค์การมหาชน ที่จัดตั้งขึ้นมาตามพระราชกฤษฎีกาภายใต้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน มีบทบาทหน้าที่ในการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รวมทั้งพัฒนามาตรฐาน และพัฒนากลไก และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพ และมีความปลอดภัย ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของ สรพ. ไม่ได้ดูแลเฉพาะสถานพยาบาลที่มีเตียง แต่ครอบคลุมไปถึงสถานพยาบาลที่ไม่มีเตียง นั่นคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งขณะนี้การโอนถ่าย รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุข สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงนับว่าเป็นความท้าทายสำคัญหลังจากถ่ายโอนแล้ว จะส่งมอบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยให้กับประชาชนอย่างไร 

       “การพัฒนา รพ.สต. ให้มีมาตรฐานมีคุณภาพมีความปลอดภัย นับเป็นความร่วมมือ ที่ สรพ. จะช่วยให้รพ.สต.เกิดการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิโดยหลักคิดแบบสากล พร้อมกับสื่อสารให้สังคมได้รู้การพัฒนาส่งมอบระบบบริการที่ดีให้ประชาชนอย่างไร รวมถึงการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาบุคลาการ รพ.สต. ให้มีความรู้ความเข้าใจมาตรฐานและกลไกการพัฒนาคุณภาพ สร้างคนที่มีความรู้เรื่องการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิกระจายอยู่ทุกพื้นที่ นำมาตรฐานไปใช้ภายใต้แนวคิด “รู้จักเรา เข้าใจหลัก และรักประชาชน” ต้องขอบคุณองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เปิดรับให้ สรพ. เข้ามาเปิดพื้นที่การพัฒนา และการลงนามครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นในการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิด้วยมาตรฐานเพื่อส่งมอบระบบบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพและความปลอดภัยให้ประชาชน ส่วนเหตุผลที่เราเลือกพื้นที่ จ.สกลนคร เป็นต้นแบบนำร่อง เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลในพื้นที่ใช้กลไกมาตรฐานระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System Accreditation : DHSA) เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยมีฐานที่โรงพยาบาลชุมชน เป็นพี่เลี้ยงดูแลเรื่องส่งมอบคุณภาพที่ได้มาตรฐานให้กับ รพ.สต. ในเครือข่าย ทำให้พื้นที่มีความเข้าใจเรื่องระบบบริการสุขภาพที่มีความเชื่อมต่อกัน ขณะเดียวกัน อบจ. สกลนครยังให้ความสำคัญ และเปิดกว้างในการจะใช้กลไกมาตรฐานพัฒนาระบบสุขภาพสถานพยาบาลที่ถ่ายโอน โดยบรรจุแนวคิและทิศทางดังกล่าวในยุทธศาสตร์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอีกด้วย” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

         ด้าน ดร.ชูพงศ์ ดำรง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า การถ่ายโอน รพ.สต. มาสู่ท้องถิ่น ต้องยอมรับว่าอาจมีปัญหา มีอุปสรรคอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ บุคลากร แต่อย่างไรก็ตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข เพื่อให้การดูแลและการให้บริการสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่มีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันดูแลทั้งหมด 18 อำเภอ โดยมี รพ.สต. ถ่ายโอนมาแล้วทั้งหมด 144 แห่ง ในปีงบประมาณ 2566 จากทั้งหมด 168 แห่ง และเตรียมโอนมาอีก 5 แห่งในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะได้มาร่วมดูแลสุขภาพประชาชนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

         “การให้บริการปฐมภูมิถือว่าเป็นบริการที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เป็นความจำเป็นที่ อบจ. เราต้องพัฒนาอาคารสถานที่ เครื่องมือ ความก้าวหน้าของบุคลากร รวมถึงอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการติดต่อสื่อสารกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ก็จำเป็นที่ต้องทำให้เกิดความใกล้ชิดและเข้าถึงการรักษาขั้นปฐมภูมิได้ง่าย ต้องขอขอบคุณ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สกลนคร ที่ให้ความสำคัญ หวังจะให้เกิดการยกระดับบริการสุขภาพในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่แรกที่นำร่อง” นายสุรชัย กล่าว

         นพ.สุรพงษ์ ผดุงเวียง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า สสจ. มีหน้าที่ยกระดับบริการสุขภาพเพื่อประชาชน โดยอาศัยภาคีเครือข่ายบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกันคือประชาชนมีความกินดี อยู่ดี ชีวิตดี มีสุขภาวะที่ดี ไม่ว่า รพ.สต. จะถ่ายโอนไปอยู่สังกัดไหน แต่ระบบสุขภาพยังเชื่อมโยงกันแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งการที่จะทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ดีนั้น ต้องมีการจัดการระบบสุขภาพ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน คือ ให้ประชาชนดูแลตัวเองได้  ไปสู่ระดับปฐมภูมิ ระดับทุติยภูมิ และ ระดับตติยภูมิ

        “ตาม พ.ร.บ.การกระจายอำนาจฯ ที่โอน รพ.สต. ไปอยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการถ่ายโอนภารกิจมาให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดูแลหน่วยบริการ เกิดการบริหารจัดการสถานพยาบาลเป็น 2 สังกัด ซึ่งหน้าที่ สสจ. เรายังมีเหมือนเดิม แบ่งเป็น 3 ประการ หลัก ๆ คือ 1. การช่วยเหลือ สนับสนุน การให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิค วิชาการและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ อปท. 2. มีการกำหนดมาตราฐาน ตัวชี้วัดของหน่วยบริการ ส่งเสริมจัดทำหลักสูตรในการปฏิบัติงานของหน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ สรพ. และ 3. การตรวจสอบ ประเมินคุณภาพและมาตรฐานการบริการ ซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ สสจ. ” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...