เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์
ปัญหา แอชตัน อโศก
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ดูเหมือนว่า กทม.วันนี้ มีแต่เรื่องการก่อสร้างอาคารสูง มีปัญหาถึงขั้นโรงขั้นศาลกันบ่อยครั้ง ล่าสุดก็คงเป็นเรื่องตึกแอซตัน และศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่ อปท.หลายจังหวัดที่มีแหล่งพัฒนาการการท่องเที่ยวและมีการก่อสร้างอาคารสูงเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยโดยเฉพาะปัจจุบันที่มีคนต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าการควบคุมยังบกพร่องหละหลวม โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจอนุญาตก่อสร้างโดยไม่สุจริต ยิ่งก่อปัญหาในภายหน้าได้ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และที่เดือดร้อนมากที่สุด คือผู้ซื้อนั้นละครับที่ต้องแบกรับภาระทั้งในการรื้อถอน การฟ้องร้องการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ไม่รู้ว่ากี่ปีกี่ชาติที่ผู้บริโภคที่สุจริตจะได้รับความเป็นธรรมกันครับ
เริ่มต้นของคอนโดหรู “แอชตัน อโศก” (Ashton Asoke) ของ “อนันดา” เป็นโครงการร่วมทุนของอนันดากับมิตซุย ฟูโดซัง ญี่ปุ่น พัฒนาคอนโดหรูสูง 51 ชั้น จำนวน 783 ยูนิต มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเริ่มโอนกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 โดยขายไปแล้ว 668 ยูนิต มูลค่า 5,639 ล้านบาท หรือ 87% ปัจจุบันมีผู้พักอาศัย 580 ครอบครัว เป็นคนไทย 438 ราย และต่างชาติ 140 ราย จาก 20 ประเทศ ยังมียูนิตเหลือขายอีก 117 ยูนิต หรือ 13% มูลค่า 828 ล้านบาท มีห้องพัก 783 ยูนิต ตั้งอยู่ริมถนนอโศก สุขุมวิท ที่หลายสิบปีก่อนใครอยู่กรุงเทพฯ ช่วงนั้น จะเห็นว่าถนนก็ไม่ได้กว้างขวางมากนัก พอมีการพัฒนาพื้นที่มากขึ้น ถนนก็ขยายไปบ้าง ตึกรามบ้านช่องเปลี่ยนไปจากเดิมจนแทบไม่เหลือสภาพเดิม รวมถึงการขยายที่อยู่อาศัยคอนโดก็สร้างมากขึ้น เพราะถือเป็นย่านธุรกิจอีกพื้นที่ของกรุงเทพฯ
ทีนี้คนอยู่อาศัยแต่เดิมเดือดร้อนแล้วสิครับ เหตุนี้ครับ ชาวสุขุมวิท 19 จำนวน 15 คน จึงได้มอบอำนาจให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นฟ้อง ผอ.เขตวัฒนากับพวกรวม 5 คน ต่อศาลปกครองกลางตั้งแต่ปี 2559 ที่ได้ร่วมกันออกคำสั่งอนุญาตให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (เจ้าของคอนโด แอชตัน อโศก) ก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ตั้งอยู่บนถนนอโศกที่อาจขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 เนื่องจากที่ดินโครงการไม่มีด้านใดด้านหนึ่งที่เป็นทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร เพราะที่ดินของแอชตัน อโศก เจ้าของเดิมถูกเวนคืนสร้างรถไฟฟ้า ทำให้จากเดิมสามารถสร้างตึกสูงได้ เพราะติดถนนอโศก
แต่เมื่อถูกเวนคืน รฟม.สร้างสถานีรถไฟฟ้าปิดอยู่ด้านหน้า จึงมีถนนเป็นทางออกสู่ถนนอโศก มีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎหมายคือไม่ถึง 12 เมตร ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย อาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตาม ม.39 ทวิ และ ม.39 ตรี พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด โดยมีผลย้อนหลังจนถึงวันที่ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าว
ทีนี้ทั้ง 2 ฝ่ายก็ยื่นอุทธรณ์คดีไปศาลปกครองสูงสุดจนในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้ “เพิกถอน” คำสั่งอนุญาตก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศกทั้งหมด โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกใบอนุญาต แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดที่อนุมัติออกใบอนุญาตบ้างครับ นับดูแล้วมีถึง 8 หน่วยงานราชการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักงานเขตวัฒนา สำนักงานที่ดินพระโขนง สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.) กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร กรมที่ดิน
หลังคำพิพากษานี้ ข่าวว่าผู้ประกอบการรายนี้เห็นว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ต่อเจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัทอนันดา เพราะหากหน่วยงานราชการผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติแล้วโครงการนี้จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างที่เป็นอยู่ และจะเร่งดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัทโดยเร็ว
รวมทั้งจะดำเนินการประสานงานคณะกรรมการนิติบุคคลแอชตัน อโศก และเจ้าของร่วม เพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อทวงถามความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ว่าสุดท้ายหน่วยงานรัฐที่ออกใบอนุญาต ต้องเข้ามาร่วมหาทางออก รับผิดชอบและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และขั้นตอนที่ทำได้ในฐานะเป็นผู้ได้รับความเสียหาย คือการฟ้องหน่วยงานรัฐ ซึ่งการพิจารณาคดีต้องใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควร
ตอนนี้ทราบว่า ทุกฝ่ายพยายามหาทางออกว่าทำอย่างไรไม่ต้องทุบตึก บ้างก็ให้ไปซื้อที่ดินด้านหน้าตึกเพื่อทำเป็นถนนตามที่กฎหมายกำหนดคือกว้าง 12 เมตรเสีย บ้างก็ให้ขอใบอนุญาตใหม่ บ้างถึงขนาดให้แก้ไขกฎหมายไปโน่น แต่ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ได้เยียวยาผู้อยู่อาศัยโดยสุจริต เพราะแน่นอนพวกเขาคงไม่รู้ว่าอาคารก่อสร้างถูกผิดอย่างไรมาแต่ต้น ถ้าในแง่นิติศาสตร์แล้วจะเห็นว่า เมื่อศาลสั่งว่าใบอนุญาตออกไม่ชอบมาแต่ต้นแล้ว ก็ต้องรื้อถอน แต่ในแง่รัฐศาสตร์เมื่อรื้อถอนกันจริง ผู้อยู่อาศัยโดยสุจริตจะทำอย่างไร บางคนอาจยังผ่อนชำระหนี้ธนาคารไม่หมดด้วยซ้ำ
เชื่อมั้ยครับท่านผู้อ่าน เรื่องนี้คงจะยาวไปเป็นสิบสิบปีเหมือนตึกนิวเวิลด์ บางลำพู ที่ศาลให้รื้อถอน แต่กว่าจะเลิกการใช้อาคารก็ปาเข้าไปกว่ายี่สิบปี ล่าสุดไม่กี่ปีที่ผ่านมาคงจำได้ อาคารเอ ทัชที่ ถนนร่วมฤดีก็เช่นกัน ที่มีความกว้างของถนนไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ศาลปกครองสั่งรื้อถอน แต่วันนี้กี่ปีมาแล้วครับ กทม.ยังหาตัวผู้รับจ้างรื้อถอนไม่ได้เลยครับ ที่สำคัญไม่ปรากฏว่ามีการลงโทษทางวินัยหรือดำเนินคดีอาญาเจ้าหน้าที่ กทม.หรือหน่วยงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้เป็นตัวอย่างสักรายเดียวครับ
ปัจจุบันก็ยังมีโครงการลักษณะคล้ายกันของผู้ประกอบการธุรกิจด้านนี้อีกนับสิบโครงการที่เข้าลักษณะเดียวกับแอชตัน อโศก และมีอีกเป็น 100 โครงการ ทั้งคอนโด ทั้งห้างศุนย์การค้า ที่ขอเชื่อมทางกับหน่วยงานราชการ และอาจเกิดกรณีเช่นเดียวกันอีกก็ได้ ใครจะเป็นคนเริ่มร้องเรียนหรือฟ้องคดีรอดูกันต่อครับ