นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์กองทุน FTA ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570) ว่า แผนยุทธศาสตร์กองทุน FTA มีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ 1) สนับสนุนเงินทุนค่าใช้จ่ายให้หน่วยงานราชการและสถาบันเกษตรกรสำหรับการดำเนินโครงการเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกข้อตกลง และสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าเกษตรไม่น้อยกว่า 10 โครงการ และ 2 ) เน้นช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าให้ได้รับประโยชน์และเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า จำนวนไม่น้อยกว่า 1,500 ราย เพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่เกษตรกร ลดผลกระทบจากเปิดเสรีทางการค้า โดยมีการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ด้วยวิสัยทัศน์ “มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่เกษตรกร ลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยมีการบริหารจัดการอย่างมีธรรมภิบาล”ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เน้นการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และปรับปรุงการบริหารจัดการ ตลอดจนการพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีศักยภาพแข่งขันที่ทัดเทียมหรือดีกว่าสินค้าจากต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเงิน มุ่งเน้นให้เงินกองทุนฯ เกิดประโยชน์กับหน่วยราชการและเกษตรกรมากที่สุด โดยใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกกรอบข้อตกลง และสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าเกษตร โดยพิจารณาวิเคราะห์โครงการที่ขอสนับสนุนเงินอย่างรอบคอบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาขีดความสามารถในการกำกับ ติดตามและควบคุมการดำเนินงาน มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการติดตามและควบคุมการใช้จ่ายเงิน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายของโครงการ รวมถึงให้ความสำคัญในการกำกับดูแลควบคุมการดำเนินงานกิจการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อให้ผู้รับบริการกองทุนฯ ได้รับการตอบสนองประโยชน์สูงสุดอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อกองทุนฯ
จากการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานกองทุน FTA ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 ซึ่งขณะนี้ มีโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนจากกองทุน FTA แล้วประมาณ 10 โครงการ โดยกองทุนฯ ได้พิจารณาให้การสนับสนุนเรียบร้อยแล้ว จำนวน 6 โครงการ มีผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 5,000 ราย จากโครงการสินค้าโคเนื้อ 3 โครงการ สินค้าโคนม 2 โครงการ และสินค้าข้าว 1 โครงการ รวมงบประมาณ 296.92 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเร่งพิจารณาโครงการที่เสนอเข้ามา ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาศักยภาพการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำนมดิบโดยระบบสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหา และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดการค้าเสรี (2) โครงการเพิ่มศักยภาพผลิตกาแฟ และสร้างความมั่นคงด้านการแข่งขัน (3) โครงการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรผู้เลี้ยงแพะบ้านสนามชัย จังหวัดอำนาจเจริญ และ (4) โครงการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร (โครงการนำร่อง) สมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปทุมราชวงศา
ทั้งนี้ สศก. โดย กองทุนฯ FTA จะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม และมุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตลอดห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ซึ่งกองทุน FTA พร้อมที่จะร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์กองทุน FTA ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดภายในปี 2570 สำหรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรที่สนใจ สามารถขอคำปรึกษาการเสนอโครงการ เพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTA ได้ที่ 0 2561 4727 หรือ อีเมล fta.oae@gmail.com