CHPP และ Nuovo Plus บริษัทในกลุ่ม GPSC ผนึก มทส. เปิดตัวโครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย ต้นแบบแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการพลังงานเพื่อความยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีผสมผสานพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้ง Solar Rooftop และ Floating Solar พร้อมดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพลังงาน ควบคู่ระบบกักเก็บพลังงาน เดินหน้าพัฒนาสู่ Smart Grid ร่วมขับเคลื่อนโคราชสู่ Smart City ในอนาคต
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า วันนี้ (7 ก.ย. 2566) GPSC ได้เปิดโครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัทในกลุ่ม GPSC ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด หรือ CHPP ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 100% และบริษัท นูออโว พลัส จำกัด หรือ Nuovo Plus ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 49% กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ภายในอาคารของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อร่วมมือในการวิจัยพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ และยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของประเทศไทย
โครงการดังกล่าว มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) ขนาดกำลังการผลิต 1.72 เมกะวัตต์ และการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ขนาดกำลังการผลิต 4.28 เมกะวัตต์ โดยได้นำระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่กับการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เพื่อเป็นโครงข่ายนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนอัจฉริยะในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย และเป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบของระบบการบริหารจัดการไฟฟ้าอัจฉริยะหรือ Smart Grid ที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ได้ในอนาคตของจังหวัดนครราชสีมา
“การพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว มหาวิทยาลัยฯ สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ถึง 8.5 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ซึ่งจะสามารถลดค่าไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยฯ ได้ถึง 510 ล้านบาทตลอดอายุโครงการ 25 ปี และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 115,000 ตัน ส่วนการติดตั้ง Floating Solar จะช่วยลดการระเหยน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่า 30,000 ลูกบาศก็เมตรต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ด้านพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชุมชนที่มีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นางรสยากล่าว
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2564 และสามารถดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา โดยรายละเอียดของการดำเนินงานได้ติดตั้งระบบไฟฟ้าเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1. Solar Rooftop บริเวณหลังคาของ 5 อาคาร ขนาดกำลังไฟฟ้ารวมประมาณ 1.66 เมกะวัตต์ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Mono PERC Half-Cell Module ที่มีคุณสมบัติพิเศษผลิตจากซิลิกอน เซลล์ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง อายุการใช้งานที่ยาวนาน ส่วนที่ 2. Solar Rooftop บริเวณหลังคาทางเดินอาคารเรียนรวม 1 ขนาดกำลังติดตั้ง 0.06 เมกะวัตต์ เป็นแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Bifacial Cells มีความโดดเด่นด้านการออกแบบเพื่อให้แสงส่องผ่านได้ทั้ง 2 ด้านเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนที่ 3. Floating Solar บริเวณอ่างเก็บน้ำสุระ 1 ขนาดกำลังติดตั้งรวมประมาณ 4.28 เมกะวัตต์ ด้วยทุ่นลอยน้ำ G Float ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ CHPP ที่ใช้วัตถุดิบ (Raw Material) เป็นเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษที่ผสมสารกันแสง UV มีคุณสมบัติคงทนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังสามารถนำกลับไปสู่กระบวนการรีไซเคิลได้หลังจากสิ้นสุดอายุการใช้งานอีกด้วย
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นแบบในด้านการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer Trading พร้อมกับสามารถรายงานผลการซื้อขายได้แบบ Real-time จึงได้ติดตั้งระบบ BESS ขนาด 100 กิโลวัตต์/200 กิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยใช้ระบบ Monitoring Platform ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อทำการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาให้สอดรับกับการผลิตกระแสไฟฟ้า นับเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Trading Platform) ที่จะเป็นการรองรับการจัดการพลังงานแบบครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ