ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ เลขาธิการ ป.ป.ส. ว่า อาจเข้าข่ายความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต จากกรณี ที่ปล่อยคืนทรัพย์สิน ที่ยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราวตามมาตรา 71 โดยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ 2550 และระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ว่าด้วยการสั่งตรวจสอบทรัพย์สิน การยุติการตรวจสอบทรัพย์สิน และการคืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราว พ.ศ. 2565 จากกรณีที่ ปปส. และตำรวจนครบาล ทำการจับกุม นาย ทุน มิน หลัด (Mr.Tun Min Latt) สัญชาติเมียนมาร์ ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลอาญาที่ 527/2565 ลงวันที่ 9 กันยายน 2565 โดยกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด,สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด, และร่วมกันฟอกเงิน สมคบกับฟอกเงิน และสนับสนุนการฟอกเงิน จากนั้นได้มีการยึดทรัพย์สินของนาย ทุน มิน หลัด จำนวน 94 รายการ เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต่อมา เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้มีคำสั่งที่ 5658/2565 ลงวันที่ 17 กันยายน 2565 ให้ตรวจสอบทรัพย์สินของนาย ทุน มิน หลัด (ผู้ต้องหา และได้คืนทรัพย์สินรายการที่ 93 รายการเดียว คือ กรรมสิทธิ์ห้องชุดย่านห้วยขวาง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 โดยไม่ได้ทำการตรวจสอบ หรือสอบปากคำพยานผู้ครองครองทรัพย์สิน นาย ทุน มิน หลัด แต่อย่างใด ประกอบกับไม่ได้สอบปากคำ นายอัง เพีย โซน บุตรชายของ พล.อ.อาวุโส นายมิน อ่อง หล่าย ผู้นำชาวเมียนมาร์ ไม่ได้ตรวจสอบที่มาที่ไปของทรัพย์สินดังกล่าว ตามหลักการตรวจสอบทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัย ตามคำนิยามของระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ว่าด้วยการสั่งตรวจสอบทรัพย์สิน การยุติการตรวจสอบทรัพย์สิน และการคืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราว พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ ตามระเบียบของ การยุติการตรวจสอบทรัพย์สิน การสั่งให้คืนทรัพย์สินที่มีการยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราว เป็นอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน การกระทำดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบดังกล่าวข้างต้นย่อมกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ และปราศจากอำนาจให้กระทำการได้ จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษทำการตรวจสอบว่า พฤติการณ์ เข้าข่ายทำผิด ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หรือไม่