นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในการแถลงข่าว “มาแต่ตรัง...” เทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์ Creative tourism festival ภายใต้โครงการยกระดับและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ฝั่งอันดามัน (Premium Tourism Andaman) โดยมี นางสาวพันธิตรา สินพิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) นางสาวเพ็ญศิริรัตน์ อาจทวีกุล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง และ นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครตรัง ร่วมแถลงข่าว ณ มูลนิธิกุศลสถานตรัง
นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่เมืองเก่าตรัง โดยใช้กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจในเขตเมืองเก่าตรัง เป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในเครือข่ายย่านสร้างสรรค์ประเทศไทย TCDN) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและสร้างประสบการณ์ใหม่กับคนตรังและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ผ่านกรอบแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวของประเทศ
ทางด้าน นางสาวเพ็ญศิริรัตน์ อาจทวีกุล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง กล่าววา จังหวัดตรังอนุมัติให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าอันดามัน ภายใต้โครงการยกระดับและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวคุณภาพสูงฝั่งอันดามัน (Premium Tourism Andaman) งบประมาณ 8,829,000 บาท (งบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566) โดยบริเวณเขตเมืองเก่าตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง มติที่ประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 ได้ประกาศขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าตรัง เนื้อที่ประมาณ 1.91 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,192.95 ไร่ และขอบเขตพื้นที่ต่อเนื่อง อีกประมาณ 4.05 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,528.92 ไร่ โดยองค์ประกอบสำคัญของเมืองส่วนใหญ่กระจุกตัวหนาแน่นอยู่ในบริเวณใจกลางเมือง ซึ่งเป็นย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรมเก่าแก่ของเมือง หรือเกาะเมืองทับเที่ยงเป็นหลัก องค์ประกอบเมืองที่สำคัญ ประกอบด้วย หอนาฬิกา สถานีรถไฟ และวิหารคริสตจักรตรัง เป็นต้น
ซึ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเขตเมืองเก่าตรัง โดยใช้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ และเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้แก่เมืองเก่าตรัง โดยใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม (Soft Power) ตลอดจนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากในเขตเมืองเก่าตรัง โดยกำหนดจัดงาน 5 วัน ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งในงานจะมีการแสดงแสงสีเสียงในพื้นที่ภูมิลักษณ์สร้างสรรค์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับอัตลักษณ์เมืองเก่าตรังภายในเส้นทางการจัดงาน เพื่อแสดงแนวคิด อัตลักษณ์บางสถาปัตยกรรม และสร้างความสนใจให้พื้นที่จัดงาน และจัดบูธร้านจำหน่ายอาหาร การแสดงงานด้านการสร้างสรรค์ และผลิตภัณฑ์ศิลปะท้องถิ่น ประมาณ 50 ร้าน นอกจากนี้มีเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้าน และการแสดงอื่น ๆ พร้อมทั้งการสาธิตขั้นตอนการประกอบอาหารพื้นถิ่นเมืองเก่าตรัง และงานศิลปะท้องถิ่นโดยวิทยากรอีกด้วย