ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
สถานการณ์โควิด – 19 ทิ้งช่วงมาหลายปี ปีนี้จัดยิ่งใหญ่งานเทศกาลออกพรรษาวัดบ้านถ้ำ
22 ก.ย. 2566
 ส.ส.เจี๊ยบ เชิญชวนชาวกาญจน์ และนักท่องเที่ยวร่วมงานสืบสานประเพณีตักบาตรเทโวและการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชูศักดิ์ แม้นทิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต 2 ได้เปิดเผย เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2566  โดยในงานมีการจัดการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ ในครั้งนี้ของตำบลเขาน้อย เป็นการร่วมมือกันระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี กับ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และ พี่น้องประชาชนชาวตำบลเขาน้อยได้ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์การแข่งขันพายเรือที่ชาวบ้านตำบลเขาน้อย ซึ่งกิจกรรมการแข่งขันพายเรือยาวนี้ได้สืบทอดประเพณีต่อกันมากว่า 50 ปี 
 
นายชูศักดิ์ แม้นทิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต 2 ได้กล่าวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการแข่งขันเรือยาวของตำบลเขาน้อย ว่าเริ่มขึ้นจากการนำเรือยาวที่มาร่วมขบวนทอดกฐิน ซึ่งสมัยก่อนคนที่มีบ้านติดแม่น้ำ เมื่อถึงเทศกาลออกพรรษาคนที่มีเรือยาวก็จะนำเรือมาร่วมขบวนทอดกฐิน กว่าจะเสร็จพิธีทอดกฐินชาวบ้านที่นำเรือมาก็ไม่รู้จะทำอะไรกันก็เลยเอาเรือที่มาร่วมขบวนทอดกฐินเอามาพายแข่งกันในแม่น้ำด้านหน้าวัดบ้านถ้ำจึงเป็นที่มาของการจัดการแข่งขันเรือยาวในครั้งนี้ ซึ่งได้หยุดจัดมา 3-4 ปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ "โควิด-19" ที่เรารู้จักกัน และในปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นปกติ อบต.เขาน้อย จึงได้ทำการขัดขึ้นมาอีกครั้งเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีแข่งเรือยาวให้คงอยู่กับชาวบ้านตำบลเขาน้อยและชาวไทยตลอดไป 
โดยการจัดการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯในครั้งนี้ทางตำบลเขาน้อย ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหลายภาคส่วนทั้ง อบจ.กาญจนบุรี อบต.เขาน้อย และ หจก.ศิลาเขาน้อย จำกัด ร่วมสนับสนุนงบประมาณเนื่องจากการจัดการแข่งขันเรือยาวในแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณสูงเนื่องจากเรือที่เดินทางมาร่วมทำกาแข่งขันมาจากต่างจังหวัด ตนในฐานะประธานจัดการแข่งขันเรือยาวจึงขอเชิญชวนพ่อแม่พี่น้องชาวกาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียงรวมไปถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มาร่วมอนุรักษ์การแข่งขันเรือยาวและร่วมสืบสานประเพณีตักบาตรเทโวของวัดบ้านถ้ำ ตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี 
ซึ่งกิจกรรมในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ตั้งเเต่เวลา 09:00 น. ในช่วงเช้าจะมีการแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ณ บริเวณริมน้ำหน้าวัดบ้านถ้ำ ส่วนในช่วงบ่ายจะเป็นประเพณีตักบาตรเทโวเทศกาลออกพรรษาวัดบ้านถ้ำ โดยพระสงฆ์จะมารับบิณฑบาตจะเดินทางลงมาจากถ้ำนางพิมพ์พิลาไลย์ซึ่งอยู่ยอดเขาโดยมีขบวนเหล่านางฟ้าเทวดาร่วมขบวนสวยสดงดงามไม่แพ้จังหวัดอื่นอย่างแน่นอน ส.ส.เจี๊ยบกล่าวท้ายสุดว่า งานนี้สายบุญไม่ควรพลาดวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เจอกันที่วัดบ้านถ้ำอิ่มทั้งบุญอิ่มทั้งสนุกกับการแข่งขันเรือยาวระดับประเทศที่ขนกันมาร่วมทำการแข่งขันในครั้งนี้
 
สำหรับประวัติวัดบ้านถ้ำท้าพิสูจน์แรงศรัทธา ขึ้นบันได 269 ขั้น สักการะบูชาหลวงพ่อชินราช(หลวงพ่อใหญ่)ในถ้ำคูหามังกรสวรรค์ วัดบ้านถ้ำ ตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นวัดเก่าแก่สมัยสุโขทัย ด้านหลังจรดเขา ด้านหน้าจรดแม่น้ำแม่กลอง มีชายหาดสวยงามอยู่หน้าวัด ภูเขาที่ตั้งถ้ำสูงราวๆ 200 กว่าเมตร ภูเขาลูกนี้เป็นเทือกเดียวติดต่อกันหลายยอดเป็นพืด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดปลายเขาที่เขาแหลมและเขาตกถ้ำมังกรทอง 
 
วัดบ้านถ้ำนี้มีประวัติเล่ากันต่อๆ มาว่าสร้างในสมัยยุคสุโขทัย ตามประวัติเล่าว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งร่ำรวยมากได้มาเห็นถ้ำที่บ้านถ้ำนี้ใหญ่โตสวยงามน่าอาศัย มีปล่องสว่างดีมีลมพัดถ่ายเทอากาศเข้าออกอยู่เสมอ ทำให้เย็นสบายคล้ายเข้าไปอยู่ในห้องแอร์  จึงนิมนต์หลวงพ่อองค์หนึ่งชื่อว่า หลวงพ่อทอง  ผู้เป็นปฐมเจ้าอาวาส ซึ่งปรากฏว่าเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านพุทธาคมให้มาอยู่จำพรรษาในถ้ำนี้ หลวงพ่อทอง ได้เลี้ยงนกสาริกาตัวหนึ่ง หัดให้พูดภาษาคนได้แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีนกสาริกาอาศัยอยู่ ท่านเศรษฐีได้หลวงพ่อทองมาอยู่จำพรรษาในถ้ำนี้ก็อาศัยหลวงพ่อช่วยสั่งสอนธรรมะให้ เกิดศรัทธาเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้น จึงได้จัดการสร้างพระพุทธรูปไว้ในถ้ำองค์หนึ่งแบบพระพุทธชินราช สูง 11 ศอก หน้าตักกว้าง 8 ศอกเศษ (ภายในไม่ทราบว่าเป็นอะไรแน่) แต่ภายนอกพอกด้วยปูนลงรักปิดทองไว้เป็นที่สักการะกราบไหว้บูชา หลวงพ่อทองท่านมีญาณแก่งกล้ามาก สามารถเดินทางไปตามซอกหินตลอดภูเขาได้ทะลุถึงเขาตกถ้ำมังกรทองซึ่งห่างไกลจากวัดบ้านถ้ำไปประมาณ 10 กม. เมื่อไปถึงแล้วท่านก็ลงสรงน้ำที่สระบัว แล้วก็เก็บดอกบัว 1 มัด 20 ใบ จุดไปกลับพอดีหมด  ระยะทางที่ไปนี้ ถ้าสมาธิไม่กล้าพอก็ไปไม่ได้ตลอด  เพราะในบาดาลภูเขามีพื้นดินและหาดทรายอันสวยงาม มีหมู่บ้านชาวเมืองลับแลอยู่มากมาย ผู้ที่จะผ่านไปได้จะต้องมีศิลมีสัตย์ดี  ถ้าไร้ศิลไร้สัตย์ ก็จะถูกนางผีเสื้อยักษ์ที่เฝ้าด่านประตูทำอันตรายเอา  จำเนียรกาลต่อมา ท่านเศรษฐีมีลูกชายใหญ่ขึ้น จึงนำมาถวายเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อโดยให้บวชเป็นสามเณร ต่อมาสามเณรเห็นหลวงพ่อไปในช่องภูเขาได้ทุกวันก็อยากไปบ้าง แม้หลวงพ่อจะห้ามปรามก็ไม่ยอมฟัง หลวงพ่อจึงต้องให้สามเณรตกลงให้สัญญากันก่อนว่า  ในระหว่างทางที่ไป ถ้าเณรเห็นอะไรให้นิ่งไว้  เดินสำรวมอินทรีย์ตามรอยเท้าหลวงพ่อไป  อย่าไปเกี่ยวข้องหลงใหลในสิ่งที่เห็นเป็นเด็ดขาด  สามเณรยอมรับสัญญา  หลวงพ่อจึงได้พาสามเณรเดินทางไปด้วยกัน  พอเดินทางไปถึงประตูเมืองลับแลหลวงพ่อมีสมาธิจิตแก่กล้าก็สามารถเดินผ่านไปได้ตามปกติ  
ส่วนสามเณรเดินทางก้าวย่างตามรอยเท้าหลวงพ่อมาข้างหลังด้วยสมาธิจิตไม่มั่งคงนางยักษ์ผู้เฝ้าด่านประตูเห็นสามเณรแปลกหน้ามาก็คิดจะทดสอบดูจึงแปลงกายเป็นสาวน้อยรูปร่างโสภาเข้าทักทายด้วยวาจาอ่อนหวาน สามเณรกำลังรุ่นคะนองมองเห็นสาวสาวยก็เสียสมาธิจิตคิดเสน่หา  จึงเอ่ยวาจาเกี้ยวพาราสีพอได้ช่องทีก็จะทำการล่วงเกิน นางยักษ์เมื่อทดสอบดูก็รู้ได้ว่า สามเณรนี้ไร้สัตย์ไร้ศีล  ไม่สมควรให้พลัดผ่านประตูเมืองลับแลเข้าไป จึงได้เอ่ยวาจาห้ามปราม ฝ่ายสามเณรไม่ยอมฟังเสียจะรีบตามหลวงพ่อเข้าไปให้ได้  สาวน้อยจึงกลายร่างเป็นนางยักษ์ตรงเข้าบิดคอสามเณรจนตาย  หลวงพ่อเมื่อเดินทางเข้าถึงหมู่บ้านเมืองลับแลยืนรออยู่ครู่ใหญ่ก็ไม่เห็นสามเณรมาสักทีก็นึกเฉลียวใจว่าเณรได้รับเภทภัยจากนางยักษ์เป็นแน่  จึงรีบกลับไปดูก็พบสามเณรถูกบิดคอตายเสียแล้ว  ถามนางยักษ์ได้ความจริงว่า  สามเณรทำผิดศีลผิดสัตย์จึงถูกลงโทษถึงตาย หลวงพ่อจึงขอร้องให้นางยักษ์ช่วยแก้ไขให้สามเณรฟื้นขึ้นมาอีก  พอสามเณรฟื้นขึ้นมาแล้วก็รีบพากลับถ้ำ  ตั้งแต่วันนั้นมาสามเณรก็ล้มป่วยไม่มีใครทราบสาเหตุ อยู่จนครบ  7 วัน สามเณรก็ถึงแก่มรณภาพ มีแต่หลวงพ่อองค์เดียวเท่านั้นรู้สาเหตุการตายของสามเณร  แต่เพราะกลัวจะเกิดความยุ่งยากจึงไม่บอกเรื่องนี้ให้ใครทราบ  ตั้งแต่วันนั้นมาหลวงพ่อจึงเอาหินอุดช่องถ้ำที่เคยชำแรกภูเขาไปอย่างมิดชิดเสีย  เพื่อป้องกันมิให้ใครหลงเข้าไปอีก  ทั้งตัวหลวงพ่อเองก็เลิกชำแรกเข้าช่องภูเขา ตั้งแต่นั้นมา ช่องเขานั้นถูกอุดมานานแสนนานตราบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ แล้วปรากฏว่าได้มีหินงอกย้อยมาปิดทางจนหมดสิ้น  เหลือไว้แต่เพียงร่อยรอยเท่านั้น  ฝ่ายท่านเศรษฐีนั้นครั้นเมื่อลูกชายตายไปแล้ว จึงคิดว่า  ต่อไปภายภาคหน้า ถ้าลูกหลานเข้ามาบวชอยู่ในถ้ำนี้อีกก็คงจะเกิดเหตุเภทภัยถึงแก่ความตายอย่างนี้อีกเป็นแน่  จึงสั่งให้คนงานทำการสร้างวัดที่เชิงเขาข้างล่างตรงปากถ้ำ แล้วขนานนามเรียกว่า “วัดบ้านถ้ำ” มาตราบเท่าทุกวันนี้
   ////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์ - รายงาน
 
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...