ตามนโยบายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. สั่งการให้ สตม.เป็นหน่วยงานหลักในการสกัดกั้น ตรวจสอบ ระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบ ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุ หรือโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด ทั้งนี้ส่วนหนึ่งในมาตรการของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการเตรียมความพร้อมรองรับนโยบายฟรีวีซ่าชาวจีนของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในวันที่ 25 กันยายนนี้ โดยมุ่งเน้นการจับกุมและเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวที่กระทำความผิด มีหมายจับ หรือมีพฤติกรรมเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. , พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.ปิยะอนันต์ โตสกุลวงศ์ ผบก.ตม.1 , และ พ.ต.อ.ระพีพัฒน์ อุตสาหะ รอง ผบก.ตม.1 ได้อำนวยการปฏิบัติในภาพรวม พร้อมทั้งสั่งการให้ พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 เปิดปฏิบัติการกวาดล้างบุคคลต่างด้าวที่กระทำความผิดตามกฎหมาย โดยเริ่มออกปฏิบัติการพร้อมกันทุกหน่วยงานทั่วประเทศ ในวันที่ 21 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
โดยปฏิบัติการในครั้งนี้ พ.ต.อ.กาจภณฯ ได้แบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุด ออกสืบสวนหาข่าวเป้าหมายอาชญากรที่อาจจะเข้ามาฝังตัว หลบซ่อน หรือใช้กรุงเทพมหานครเป็นฐานปฏิบัติการ พื้นที่รับผิดชอบของแต่ละชุดประกอบด้วย ย่านหัวหมาก ย่านตลาดพลู และย่านห้วยขวาง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีบุคคลต่างด้าวพักอาศัยอยู่หนาแน่น อาจมีผู้กระทำความผิด หรือไม่ประสงค์ดี แฝงตัวอยู่ ซึ่งภาพรวมสรุปผลของปฏิบัติการในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมบุคคลต่างด้าวได้ 3 ราย มีรายละเอียดดังนี้
บุคคลต่างด้าวเป้าหมายรายแรกนั้นเป็นเป้าหมายสัญชาติจีน ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในย่านห้วยขวาง
สืบเนื่องจาก เมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายน 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด กก.สืบสวน บก.ตม.1 ได้ร่วมกันตรวจสอบสถานประกอบการร้านค้าที่มีพฤติการณ์ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างด้าวสัญชาติจีนที่ประกอบธุรกิจ/ร้านค้า โดยให้คนไทยดำเนินกิจการแทนในลักษณะนอมินีโดยผิดกฎหมาย ที่บริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ แขวงและเขต ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร และสามารถจับกุมลูกจ้างคนต่างด้าวที่ทำงานโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายได้จำนวนหนึ่ง จากนั้นสืบสวนขยายผลและรวบรวมพยานหลักฐานภายในร้านที่เกิดเหตุ จนทราบว่ามีบุคคลต่างด้าวสัญชาติจีนรายหนึ่ง คือ นายหวู (นามสมมติ) เป็นนายจ้างสั่งการและอยู่เบื้องหลังการประกอบธุรกิจที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว โดยจากการตรวจสอบ นายหวู มีเพียงวีซ่าท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองชุดสืบสวน จึงได้เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพิกถอนการอนุญาตดังกล่าว และเข้าจับกุมตัวนายหวูได้ในพื้นที่ใกล้เคียง ย่านสุทธิสาร ส่งตัวบุคคลต่างด้าวเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ ต่อไป
บุคคลต่างด้าวเป้าหมาย ที่ 2 และ 3 เป็นการปฏิบัติการร่วม สืบเนื่องจาก กก.สืบสวน บก.ตม.1 ได้รับการประสานงานจาก ตม.จว.สงขลา และ กก.สืบสวน บก.ตม.6 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ ว่ามีผู้ต้องหาขบวนการนำพาบุคคลต่างหลบหนีเข้าเมือง หรือที่สื่อมวลชนเรียกกันว่า แก๊งขนคน ตามหมายจับในความผิดฐาน “ร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ แก่บุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการถูกจับกุม” หลบหนีมาซุกซ่อนตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กก.สืบสวน บก.ตม.1 โดย พ.ต.อ.กาจภณฯ ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 จึงได้แบ่งกำลังอีก 2 ชุดปฏิบัติลงพื้นที่ร่วมกันสืบสวนหาข่าว จนกระทั่งในช่วงบ่ายของวันที่ 21 กันยายน 2566 ชุดสืบสวนได้พบและทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คือ นายอับดุล และ นายฮุสเซ็น (นามสมมติ) โดยนายอับดุลนั้น เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียนในกลุ่มตกสำรวจ ซึ่งปัจจุบันผู้ต้องหาได้ทำเรื่องยื่นคำขอย้ายทะเบียนราษฎร์ มาอยู่ที่เขตหนองจอก เจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังกันเฝ้าตามจุดต่างๆ ที่เชื่อว่านายอับดุลจะปรากฏตัว จนกระทั่งพบตัวนายอับดุล หลังหลบซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ย่าน ม.รามคำแหง ส่วน นายฮุสเซ็น เป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติบังคลาเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่อีกชุดปฏิบัติการหนึ่งติดตามไปจนพบตัวที่ริมถนนวุฒากาศ ย่านตลาดพลู จากการตรวจสอบข้อมูลการเดินทางในระบบสารสนเทศตรวจคนเข้าเมือง พบว่านายเอ็มดี อัสราฟ ฮอสเซ็น เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ย.66 ผ่านทางด่าน ตม.ทอ.สุวรรณภูมิ บก.ตม.1 ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเพื่อทำงาน (NON-90) อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 11 ธ.ค.2566 ปัจจุบันการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่สิ้นสุด จากการสอบปากคำในเบื้องต้นของชุดปฏิบัติทั้ง 2 ชุด พบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ยอมรับว่าตนเป็นบุคคลเดียวกับบุคคลตามหมายจับและยังไม่เคยถูกจับกุมในคดีเดียวกันนี้มาก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งว่า ทั้งคู่เป็นบุคคลตามหมายจับ ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ แก่บุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย เพื่อให้คนต่างด้าวนั้น พ้นจากการจับกุม” พร้อมแจ้งสิทธิ์ของผู้ถูกจับให้ทราบจนเข้าใจข้อกล่าวหาดีโดยตลอดแล้ว จึงได้ร่วมกันควบคุมตัวผู้ถูกจับทั้ง 2 ราย เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.กาจภณฯ ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 กล่าวเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมของประเทศในการรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นหลังมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้ว แต่การดำเนินการจับกุม กวาดล้างบุคคลต่างด้าวทั้งที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ และที่มีหมายจับ รวมถึงที่มีพฤติการณ์ไม่ชอบมาพากล เป็นภัยสังคมและความมั่นคงของประเทศ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นความรับผิดชอบหลักของ กก.สืบสวน บก.ตม.1 ซึ่งหลังจากนี้ก็จะดำเนินการตามข้อสั่งการ มาตรการ และนโยบายของผู้บังคับบัญชาต่อไป
สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่างๆ รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแส การกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง หมายเลขโทรศัพท์ 1178 หรือที่http://www.immigration.go.thจักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม / รายงาน