แพทยสภาเสนอสร้างวัฒนธรรมรายงานความผิดพลาดในสถานพยาบาล ถอดความรู้จากความพลาดมากกว่าหาคนทำผิด พร้อมสร้างความเชื่อใจระหว่างผู้ให้-รับบริการ แนะปลอดภัยต้องรวมทั้งหมอและผู้ป่วย
การรายงานความผิดพลาดเพื่อนำไปสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ นับเป็นเรื่องสำคัญต่อวงการสาธารณสุขที่ต้องทำงานบนความเป็นความตายของผู้ป่วย แต่หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ขึ้น บุคลากรกลับไม่กล้ารายงานผล เพราะกระแสสังคมที่รุนแรงสร้างความกดดันต่อผู้ให้บริการ กลายเป็นความไม่ไว้ใจกันระกว่างหมอและคนไข้
ในเวทีเสวนา เจาะประเด็นความเป็นไปได้ patient and personal safety ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน จัดขึ้นภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก (Global Day of Patient Safety) และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย (Thailand Patient and Personnel Safety) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2560 ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ศ.นพ ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา ประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์สร้างความร่วมมือและพัฒนาระบบรายงานการเรียนรู้เพื่อความปลอดภัย กล่าวว่าการดำเนินงาน ณ ตอนนี้หลังจากมีการประกาศแผนยุทธศาสตร์ 2P Safety ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ออกมาเป็นที่เรียบร้อย เรามีคณะทำงานในทุกด้านเป็นการเฉพาะ ที่สำคัญคือได้รับความร่วมมือจาก 15 องค์กรสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เข้ามาลงนามร่วมขับเคลื่อนด้วยความเต็มใจ ระดับการทำงานลงลึกถึงสถาบันที่ผลิตบุคลากรสาธารณสุข
สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จเรื่องระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะเมื่อเกิดความผิดพลาดจากการรับบริการทางการแพทย์ ทำอย่างไรจะให้ทั้งสองฝั่งเกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากข้อผิดพลาด เช่น เมื่อเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ทางการแพทย์เกิดขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือ การหาสาเหตุ และแนวทางแก้ไข มากกว่าการหาว่า ใครคือผู้กระทำ จากนั้นนำข้อผิดพลาดมาสังเคราะห์เพื่อสร้างแนวทางแก้ไขเรียนรู้ร่วมกัน กลายเป็นวัฒนธรรมการรายงานความผิดพลาดในทุกสถาบันสาธารณสุข
“ความผิดพลาดแต่ละครั้งอาจหมายถึง 1 ชีวิตที่ต้องสูญเสีย ทำอย่างไรเราจะนำความผิดพลาดเหล่านั้นมาสร้างเป็นองค์ความรู้ที่แต่ละฝ่ายใช้เรียนรู้ร่วมกัน มากกว่าการหาว่า ใคร คือเจ้าของความผิดพลาดนั้น” ศ.นพ ประสิทธิ์กล่าว เชื่อ-ไว้ใจ เครื่องมือหลักกรุยทางยุทธศาสตร์ ระบบบริการสุขภาพที่ตั้งอยู่บนฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ คือระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าระบบที่สุขภาพที่มีบุลากรมากความสามรถทำงานอยู่ พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้านพัฒนาการแพทย์ ประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์สร้างกลไกสนับสนุนและอภิปรายระบบสุขภาพ กล่าวถึงการสร้างความเชื่อใจระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการว่า เป็นเครื่องมือแรกที่จะสร้างให้กลไกทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ และจะดียิ่งขึ้นเมื่อทุกวิชาชีพได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเชื่อใจระหว่างกัน
พญ.ประนอมกล่าวต่อว่า การทำงานที่ผ่านมาของ สธ. แม้หน่วยงานจะพยายามสร้างความไว้ใจระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการมากเพียงใด แต่กลับพบว่ายังมีช่องโหว่อยู่มาก โดยเฉพาะในฝั่งของผู้ให้บริการการซึ่งก็คือ บุคลากรสาธารณสุข ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับคนไข้มาเป็นอันดับต้นๆ ในขณะที่บุคลากรสาธารสุขกลับเผชิญกับความกดดันในหลายทาง ทั้งความเสี่ยงระหว่างการทำงานและแรงดันจากสังคม
ที่ผ่านมาหน่วยงานได้ใช้หลัก SIMPEL ที่จากเดิมใช้เพื่อสร้างความปลอดภัยกับผู้ป่วย เข้ามาประยุกต์ใช้สร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากร เช่น S ที่ มาจาก safe surgery แต่บุคลากรคือ S-Social จัดการกับการสื่อสารข้อมูลให้สังคมเข้าใจในหลายช่องทาง โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ หรือ I- infection control ควบคุมการติดเชื้อในผู้ป่วย ขณะที่บุคลากรสาธารณสุข คือ เรื่องการชดเชยเยียวชาเมื่อเกิดการติดเชื้อระหว่างปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการลดความแออัดในสถานที่ทำงาน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน