นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในวงกว้าง ทำให้ตนเองสนใจ จึงไปดูรัฐธรรมนูญและกฎหมายในมาตราที่เกี่ยวข้อง รัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) บัญญัติไว้ว่า (4) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง และโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรม ที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ และภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน” พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 78 (1) บัญญัติว่า “มาตรา 78 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (1) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) ให้นายกรัฐมนตรี คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77 (1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง” นายเรืองไกร กล่าวว่า ตามผลการประชุม ก.ตร. เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ที่ได้มีมติเสียงข้างมาก (9 ต่อ 1 งดออกเสียง 2) เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร.คนต่อไป นั้น ต่อมา พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิจากการเลือกตั้ง ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ได้โหวตไม่เห็นด้วยเป็นเสียงข้างน้อย ด้วยเหตุผลที่ได้ขอบันทึกไว้ในรายงานการประชุมว่า “การคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร. ไม่เป็นหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้” นายเรืองไกร กล่าวว่า จากข้อความที่ระบุว่า “การคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.ไม่เป็นหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้” ซึ่งน่าจะหมายถึง การเลือก ผบ.ตร. ครั้งนี้ อาจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 258 และพรบ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 78 บังคับไว้ จึงมีเหตุที่ต้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (2) โดยการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้าว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้คัดเลือกรายชื่อพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ รวม 9 คน ที่ลงมติให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) และมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 78 หรือไม่ ในการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองนั้น ตนได้ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเรียกรายงานการประชุมของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 มาประกอบการพิจารณาด้วย และขอให้นายกรัฐมนตรีนำพยานหลักฐานในการคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77 (1) มาประกอบการพิจารณาว่า การเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 บัญญัติว่า ต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน นั้น นายกรัฐมนตรี ใช้หลักเกณฑ์อะไร มีขั้นตอนอย่างไร และเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร หรือไม่ นายเรืองไกร ยังกล่าวว่า ได้ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 หน้า 27 มาเทียบเคียงด้วย ซึ่งระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า “…แต่การใช้อำนาจดุลพินิจดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นอกจากจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ยังจะต้องคำนึงถึง วัตถุประสงค์ของกฎหมายและอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายอีกด้วย นอกจากนี้ การใช้อำนาจดุลพินิจ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการโอนผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือระดับกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งอื่น ก็จะต้องมีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วย” ทั้งนี้ ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เรียบร้อยแล้ว