ปัญหาขยะในเมืองใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก ปริมาณขยะมูลฝอยจากชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กองขยะซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สูงเป็นภูเขาเหล่ากา เพราะการจัดการขยะส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีกองทิ้งและฝังกลบ ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางกลิ่นและน้ำเสียที่ซึมผ่านผิวดิน ไปสู่พื้นที่ข้างเคียง กระทบต่อสุขภาวะของชุมชน
หลังจาก พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560ประกาศใช้ มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทางกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดนโยบายแก้ปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและมีความพร้อมนำขยะจากชุมชนและจากกองขยะมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เพื่อกำจัดขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพสอดรับกับแนวทางการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินงานมาก่อนแล้ว
โครงการนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ เดือนพฤษภาคม 2560 ให้รับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ ฟีด-อิน-ทารีฟ (FIT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ผลิตกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ในอัตรา 3.66 บาทต่อหน่วย โดยมีบริษัทเอกชนผ่านกระบวนการคัดเลือกเข้าร่วม “โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” รวม 23 โครงการ กำลังผลิตรวม 234.7 เมกะวัตต์
สำหรับ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPPผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน จำนวน 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดนครราชสีมา กำลังผลิต 7 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดสงขลา กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบสายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2480(Power Development Plan 2018 : PDP 2018 ) ซึ่งฉบับปรับปรุงล่าสุด ครั้งที่ 1คือ PDP 2018 Revision 1 ซึ่งตามแผนเดิมนั้น ประเทศไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ เมื่อมี PDP2018 ก็จะมีโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มมาอีก 400 เมกะวัตต์รวมทั้งหมดเป็น 900 เมกะวัตต์ ซึ่งจาก 500 เมกะวัตต์เดิม สร้างไปได้ประมาณ 300 กว่า เมกะวัตต์เหลืออยู่อีกประมาณ 100 กว่า เมกะวัตต์ซึ่งส่วนที่เหลืออยู่นั้นกระทรวงพลังงานจะดำเนินการต่อไป แต่กำลังผลิตไฟฟ้า 400 เมกะวัตต์ใหม่ตอนนี้ ประมูลไปแล้วประมาณ 200 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นของ TPIPP 20 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดนครราชสีมา 7 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดสงขลาอีก 10 เมกะวัตต์
โครงการนี้กระทรวงมหาดไทยประสานไปที่กระทรวงพลังงาน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีปัญหาขยะมูลฝอยจำนวนมากรับผิดชอบ โดยอนุมัติให้องค์กรปกครองท้องถิ่น จัดทำTOR ชักชวนภาคเอกชนที่สนใจทำโรงไฟฟ้าขยะเข้าไปร่วมประมูล TPIPP เป็น 1 ในเอกชนที่เข้าไปร่วมประมูลด้วยและชนะมา 2 โครงการ คือที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครราชสีมาโดย TPIPP ได้เข้าไปศึกษาและสำรวจแล้วพบว่าในพื้นที่นั้นๆ มีบ่อขยะหรือกองขยะตั้งอยู่ที่ไหน มีปริมาณขยะตกค้างจำนวนกี่ตัน มีขยะเหลือทิ้งจากชุมชนในแต่ละวัน ปริมาณมากน้อยอย่างไร และมีพื้นที่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะเพียงพอหรือไม่
โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มีปริมาณขยะป้อนให้โรงไฟฟ้าได้ถึง 700 ตันต่อวัน สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ จึงได้ตกลงเซ็นสัญญาร่วมการงานกันไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเข้าไปปรับปรุงพื้นที่บ่อขยะ ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อดำเนินการก่อสร้างส่วนต่างๆ ของโรงไฟฟ้า ประเมินว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท
นายภัคพล เปิดเผยถึงการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศว่า ในสมัยก่อนการประมูลสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ประมาณ 180 เมกะวัตต์ จากรูปแบบเก่าก็คือขยะจะมาจากตรงนี้ เครื่องจะเป็นแบบนี้ จะผลิตแบบนี้ จะต่อไฟเข้าระบบตรงนี้ ก็ต้องไปยื่นเรื่องกับกระทรวงพลังงานและไปยื่นกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(ส่วนกลาง) เพื่อพิจารณาว่า จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติโครงการ ส่วนการดำเนินการในรูปแบบใหม่ ก็คือแทนที่ส่วนกลางจะทำทุกอย่าง ส่วนกลางก็จะโยนเรื่องไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณา โดยกระทรวงมหาดไทยโยนไปให้ที่จังหวัดสงขลา 10 เมกะวัตต์ ให้จังหวัดนครราชสีมาอีก 10 เมกะวัตต์ โยนไปให้เชียงใหม่อีก 10 เมกะวัตต์ และให้กรุงเทพฯ 40 เมกะวัตต์ จากนั้นก็มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับภาคเอกชนไปประมูลหรือตกลงกันเองให้เรียบร้อย จากนั้นก็ไปเซ็นสัญญา Power Purchase Agreement (PPA)กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ต่อไป
“อย่างที่ อบจ.สงขลาเขาก็จะเขียนทีโออาร์ของเขาเลยว่า ถ้าคุณมีประสบการณ์ 10 ปีขึ้นไปเต็ม 10 คะแนน ผมให้คุณ 10 คะแนน คนมีประสบการณ์ 7-10 ปี ผมให้ 9 คะแนน ก็ลดหลั่นกันไป ถ้าคุณใช้เทคโนโลยีเกรดบอยเลอร์ผมให้คุณ 10 คะแนน หรือคุณใช้เทคโนโลยีเกรดบอยเลอร์ แต่ไม่สามารถขยับได้ผมให้ 9 คะแนน ก็คือมีคะแนนสำหรับเทคโนโลยี คะแนนสำหรับประสบการณ์ คะแนนสำหรับความพร้อมในการเงิน เช่นคุณมีทุนทะเบียนเกิน 2,500 ล้านบาท คุณเอาไป 10 คะแนน มันจะมีคะแนนเหล่านี้ รวมทั้งหมด 90 คะแนน ใครมีคะแนนรวมมากกว่าก็ได้เข้าไปดำเนินโครงการ”
นายภัคพลกล่าวเสริมว่า ในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดนครราชสีมาซึ่งTPIPP ดำเนินการร่วมกับเทศบาลนครราชสีมา ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนจะลงนามในสัญญาแต่อาจจะล่าช้ากว่าจังหวัดสงขลาไปบ้างอย่างไรก็ตามคาดว่ากว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าได้จริงๆ หรือแล้วเสร็จช้ากว่าโรงไฟฟ้าสงขลาประมาณหนึ่งปี คือประมาณต้นปี 2569 น่าจะเริ่มส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ตามกำหนด
“เรื่องที่ได้เจรจากับเทศบาลนครราชสีมาในการทำโรงไฟฟ้าขยะก็คือเรื่องบริมาณขยะและค่าจำกัดขยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่เราได้พูดคุยกัน อันนี้จบแล้ว แต่ว่าจะยังมีเรื่องยิบย่อยอื่นๆอีกที่ต้องคุยกันต่อ เมื่อเจรจากันจนได้ข้อยุติเราก็เซ็นสัญญาสัมปทานร่วมกัน จากนั้นก็จะไปยื่นขอลงนามในสัญญาการซื้อขายกระแสไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต่อไป”นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์กล่าวปิดท้าย