รมช.ไชยา มอบนโยบาย อ.ส.ค. ส่งแบรนด์นมไทย-เดนมาร์คเจาะตลาดระดับบน เน้นวางแผนแบบนักธุรกิจ และยื่นเรื่องการจำหน่ายน้ำนมดิบตามกลไกตลาดเข้า ค.ร.ม. เรียบร้อยแล้ว
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่มอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนด้านอุตสาหกรรม ณ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ว่า ปัจจุบันการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมมีอุปสรรคจากการเกิดโรคระบาดในวัว (ลัมปีสกิน) ต้นทุนอาหารสูง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมขาดทุนจึงเลิกกิจการเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้น้ำนมดิบมีปริมาณลดลง และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 อ.ส.ค. ได้ปรับราคาซื้อน้ำนมดิบ ณ โรงงานเพิ่มขึ้น 2.25 บาท/กิโลกรัม เป็น 22.75 บาท/กิโลกรัม เพื่อบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีเงินทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงผลักดันให้ อ.ส.ค. ผลิตน้ำนมแปรรูปในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ
รัฐมนตรีช่วยฯ ไชยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์นมของ อ.ส.ค. (นมไทย-เดนมาร์ก) มีเครื่องจักรและกระบวนการผลิตที่ดี อันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นผลิตภัณฑ์นมที่คนไทยเลือกซื้ออันดับ 1 ซึ่งสามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ จึงมอบนโยบายให้ อ.ส.ค. วางแผนส่งเสริมกิจการโคนมแบบนักธุรกิจในปี 2567 เพื่อให้สามารถแข่งขันกับภาคเอกชน รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากการจัดทำแบรนด์สินค้าเจาะตลาดระดับบน เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง สามารถทำกำไรได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ.ส.ค. มีต้นทุนจากแหล่งน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ทำให้มีจุดขายสินค้าที่คุณค่าทางอาหารมากกว่าผู้ประกอบการที่ผลิตจากน้ำนมแปรรูปจากนมผง และผันตัวไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในท้องถิ่นรับช่วงต่อในการจำหน่ายนมโรงเรียนแทน พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวฟาร์มโคนมและผลิตภัณฑ์นมของ อ.ส.ค. ให้น่าสนใจและมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น
นอกจากนี้ รมช. ไชยา ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและให้กำลังใจเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ณ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค (มิตรภาพ) ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมขอให้กระทรวงเกษตรฯ แก้ไขปัญหา ได้แก่ ต้นทุนอาหารสำหรับโคนมมีราคาสูง รวมถึงต้องการจำหน่ายน้ำนมดิบในราคาตามกลไกตลาด เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถมีรายได้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ยื่นเรื่องการปรับราคาการจำหน่ายน้ำนมดิบในราคาที่เป็นธรรม ตามมติการประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีร้อยแล้ว
หลังจากนั้น รัฐมนตรีช่วยฯ ไชยา ได้เยี่ยมชมการบริหารฟาร์มโคนมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ณ ประทีปฟาร์ม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำหลักคิดแบบเอกชนไปปรับใช้กับเกษตรกรโคนมที่อยู่ภายใต้การดูแลของ อ.ส.ค. โดยประทีปฟาร์มมีการจัดการดูแลผลผลิตจากโคนมทั้งระบบแบบลดการเกิดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) และสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม อาทิ แม่วัวปลดระวาง สามารถเป็นเนื้อที่แทรกไขมันอย่างดี มูลวัวนำมาแยกกากจัดทำเป็นปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งโคนมแต่ละตัว ได้ให้อาหารหยาบคุณภาพดี และมีหลักคิดในการปูพื้นยางรองรับน้ำหนักให้โคนมมีสุขภาพดี ส่งผลให้สามารถผลิตน้ำนมได้วันละ 16 กิโลกรัม/ตัว/วัน ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่ อ.ส.ค. กำหนดไว้ที่ 12 กิโลกรัม/ตัว/วัน
“เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงเล็งเห็นว่าจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคง จึงขอฝากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมช่วยกันส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้มากขึ้น เนื่องจากแบรนด์วัวแดงยังคงครองตลาดเป็นอันดับ 1ของประเทศ เพราะฉะนั้นยังคงมีทิศทางในการจัดจำหน่าย ยึดตลาดในห้างสรรพสินค้า แบรนด์อื่นยังไม่ติดตลาดเท่าเรา เราสามารถยึดอาชีพนี้เป็นช่องทางการสร้างอาชีพ และรายได้ ในอนาคตคาดว่าการจัดการให้การจำหน่ายน้ำนมดิบมีราคาที่เป็นธรรมจะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เลิกกิจการไป กลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง” รมช. ไชยา กล่าวทิ้งท้าย