วันที่ 11 ต.ค.2566 ที่ห้องนายก อบต.หนองม่วง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ ปปช.ภาค 4 และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ภ.จว.มหาสารคาม นำกำลังเข้าจับกุม นายเกรียงไกร (ขอสงวนนามสกุล) นายก อบต.หนองม่วง ภายในห้องทำงานพร้อมของกลางเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 20 ฉบับ ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน ซึ่งเป็นธนบัตรที่ได้ลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว หลังจากมีพนักงานเอาไปมอบให้กับนายเกรียงไกรไว้เพื่อดำเนินการต่อสัญญาจ้างให้ทำงานต่อ
นายเกรียงไกร ให้การปฏิเสธว่า มีน้องคนหนึ่งได้เดินขึ้นมาแล้วนำเงินมาวางไว้แล้วก็เดินออกไป ตนก็ไม่ทราบว่าเป็นค่าอะไร ยังไม่ได้รับเรียกอะไรเพราะยังไม่ได้มีการต่อสัญญาจ้างของพนักงานทุกคน ตนยังไม่ได้ต่อให้ใครสักคนเพราะเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการอยู่ ตนอยากทราบว่าจะแจ้งข้อหาอะไร
แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ หลักฐานมัดตัวแน่นหนา จึงได้นำเอาธนบัตรจากลิ้นชักมาเทียบกับหลักฐานที่ได้ถ่ายเอกสารไว้ จากนั้นจึงแจ้งข้อหาซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้า ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือ ไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และแจ้งสิทธิผู้ต้องหา นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
นายเสกสรรณ์ กล่าวว่า ป.ป.ช.มหาสารคามได้รับแจ้งจากพนักงานจ้างตามภารกิจหลายรายจาก อบต.หนองม่วง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ว่านายเกรียงไกร ตำแหน่งนายก อบต.หนองม่วง ที่หมดสัญญาในวันที่ 30 ก.ย.2566 ประมาณ 17 ราย โดยเรียกรับเงินค่าต่อสัญญารายละ 15,000-25,000 บาท ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและเงินเดือนของแต่ละราย
นายเสกสรรณ์ กล่าวต่อว่า โดยมีผู้เสียหายจำนวน 6 รายที่ประสงค์จะดำเนินคดีกับนายก อบต.หนองม่วง จึงได้มาร้องเรียนกับสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม จากนั้น ป.ป.ช.จังหวัดมหาสารคาม จึงได้ประสานไปยัง ป.ป.ช. ภาค 4 เพื่อดำเนินการ
นายเสกสรรณ์ กล่าวอีกว่า กลุ่มผู้เสียหายที่เป็นพนักงานจ้างของ อบต.หนองม่วง แจ้งเบาะแสผ่านทางโทรศัพท์ก่อนว่าผู้จัดการของนายกอบต.คนนี้ ก็คือ นายเกรียงไกร มีพฤติกรรมเรียกรับเงิน เนื่องจากกลุ่มพนักงานจ้างของอบต.เขาหมดสัญญาจ้างในวันที่ 30 ก.ย.2566 และจะมีการประเมินเพื่อต่อสัญญาจ้างต่อในเดือนต.ค. แต่กลับมีการบันทึกการในการเรียกเงินเพื่อเป็นการตอบแทนในการสืบต่อสัญญาค่าทางกลุ่มพนักงานจ้างของ อบต. ก็เดือดร้อน
นายเสกสรรณ์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น ป.ป.ช. จังหวัดมหาสารคาม จึงได้ร่วมกับตำรวจภูธรภาค 4 และตำรวจภ.จว.มหาสารคาม เชิญผู้เสียหายที่ถูกเรียกเงินมาบันทึกสอบปากคำ พร้อมทำหลักฐานในเรื่องการเตรียมเงินที่จะไปมอบให้กับนายก อบต.คนนี้ เขาเรียกรับแล้วเราก็ได้จัดทำหลักฐานด้วยการบันทึกเลขในธนบัตรอีกด้วย จากนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ที่ถูกเรียกเงินนำบัตรดังกล่าวเข้าไปให้นายกอบต. แล้วเจ้าหน้าที่ออกที่ถูกเรียกเงินก็ได้ส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่เข้าแสดงตัวและทำการจับกุม
ขณะทำการเข้าแสดงตัวและจับกุม นายกอบต.ได้ปฏิเสธว่า เจ้าหน้าที่ได้เอาเงินมาใส่แฟ้มไว้เฉย ๆ แล้วก็ไม่ได้พูดอะไร เงินที่มามอบให้ก็ไม่ทราบว่าเป็นเงินอะไร และคิดว่าไม่น่าจะเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาต่อสัญญา เนื่องจากอ้างว่าตัวเองยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาจ้าง และอยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการประเมินเพื่อต่อสัญญาจ้างกำลังทำอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังจากตำรวจชุดจับกุมจะเข้าไปเพื่อชี้ให้นายกเปิดลิ้นชัก ก็พบว่าเงินก้อนที่เป็นหลักฐานได้ถูกนำไปซุกไว้ในลิ้นชักโต๊ะเรียบร้อยแล้ว
จากนี้จะมีการบันทึก ทำให้การของผู้ต้องหา และรวบรวมหลักฐานส่งไปที่สำนักงานป.ป.ช ทั้งนี้ พูดที่ ถูกจับกุม อยู่ในตำแหน่งนายกอบต ก็เป็นอำนาจของป.ป.ช.ที่จะพิจารณา ดำเนินการไต่สวนดำเนินคดี หรือให้ตำรวจในท้องที่ดำเนินคดีอาญาได้เลย ซึ่งจะทำให้การพิจารณาคดีรวดเร็วยิ่งขึ้น