นางสาวรัชนี นิลละออ เกษตรอำเภอนาโยง พร้อมด้วย นายนิติพล มากมูล นางสุมาลี เสมอเชื้อ นางจรัสศรี แก้วนิงประเสริฐ และนางสาวนงลักษณ์ เงารัตนพันธิกุล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอนาโยง ร่วมประชุมคณะกรรมการกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศบกต.ช่อง สัญจร นำโดยนายสถิตย์ รัมนา (ประธาน ศบกต.ช่อง/ประธานท่องเที่ยวเชิงเกษตรต.ช่อง) พร้อมคณะกรรมการ พบปะพูดคุย การดำเนินกิจกรรมกลุ่มท่องเที่ยวทั้ง 10 จุดของตำบลช่อง ตามโครงการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐานรองรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีใหม่ (New Normal) กิจกรรมพัฒนาศักยภาพชุมชนและการบริหารจัดการเพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง โครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2566 และหารือวางแผนโปรแกรมทริปท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่สนใจมาเยี่ยมชมสัมผัสวิถีคนช่องในฤดูกาลต่างๆ ณ สวนกวางสุเทพเวชพงษ์ ม.2 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตร หรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเพิ่มศักยภาพแก่เกษตรกรให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว และยกระดับการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เป็น Smart officers รวมถึงการทำบทบาทหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเกษตรกรในการพัฒนาพื้นที่เกษตรของตนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ได้มาตรฐานมีความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม แหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตรที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การพัฒนากิจกรรมด้านการท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ และการสร้างเครือข่ายกับชุมชน ตลอดจนได้รับการส่งเสริมด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตร จะมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง การมีส่วนร่วมของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และเครือข่าย การใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรและการบริการท่องเที่ยว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยและถูกสุขอนามัย ซึ่งจะเป็นจุดขายสำคัญในยุคการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ที่จะสามารถจูงใจนักท่องเที่ยวคนไทยให้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น และเม็ดเงินเหล่านี้จะช่วยพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการและชุมชน ได้รับการยกระดับคุณภาพการให้บริการภาคท่องเที่ยวที่ดีขึ้น เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีรายได้กระจายสู่เศรษฐกิจฐานรากได้เพิ่มมากขึ้น