นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ประกอบกับ มีความกดอากาศสูงยังคงปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะในภาคใต้ จะมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ช่วงวันที่ 16–19 ตุลาคม จึงต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากบริเวณ ภาคตะวันตก ใน จ.กาญจนบุรี และราชบุรี , ภาคใต้ ใน จ.ชุมพร ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล ขณะที่การบริหารจัดการปริมาณน้ำตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเน้นการกักเก็บน้ำส่วนเกินลงบึงบอระเพ็ดให้มากที่สุด พร้อมเร่งจัดจราจรด้วยการผันน้ำเข้า 10 ทุ่งรับน้ำลุ่มเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก เพื่อตัดยอดน้ำและลดผลกระทบด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลง ซึ่งวันนี้ (16 ต.ค.66) ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาคงการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นวันที่ 3 จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหลายพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมแม่เจ้าพระยา วัดไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , อ.พรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20–80 เซนติเมตร
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังได้บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกันทั้งระบบและเร่งกำจัดวัชพืชในคลองต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และปรับปรุงบานประตูระบายน้ำให้รับน้ำได้ 2 ทางเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้มากขึ้น