นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ส้มโอเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญ มีแหล่งปลูกที่สำคัญในจังหวัดพิจิตร สมุทรสงคราม เชียงราย นครปฐม นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรี ชัยภูมิ กาญจนบุรี ชัยนาท และสุราษฎร์ธานี พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ ทองดี ขาวใหญ่ ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง ท่าข่อย และทับทิมสยาม โดยทั่วไปส้มโอให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่บริโภคภายในประเทศ และมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม และฮ่องกง
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบว่าสายพันธุ์ส้มโอมีการกระจายตัวอย่างหลากหลายในแต่ละแหล่งปลูก ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพ และปริมาณผลผลิตในบางพื้นที่ไม่ได้คุณภาพ และผลผลิตต่ำ ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร จึงพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ส้มโอเพื่อให้มีความหลากหลายในด้านของสีเนื้อและรสชาติ ทนทานต่อโรคและแมลง ให้ผลผลิตสูง ผลมีคุณภาพดี เหมาะสำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้า เพิ่มโอกาสทางการตลาดตลอดจนการส่งออกในอนาคต เพื่อตอบสนองของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
นายระพีภัทร์ กล่าวถึงการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรได้คัดเลือกสายต้นจากการเพาะเมล็ด ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการปรับปรุงพันธุ์ส้มโอ โดยขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์เริ่มในปี 2545-2549 คัดเลือกพันธุ์ส้มโอพันธุ์ทองดีจากการเพาะเมล็ดจำนวน 200 ต้น สามารถคัดเลือกได้สายต้นส้มโอที่มีรสชาติดี 10 สายต้นที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกเบื้องต้น คือ เป็นต้นส้มโอที่มีการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตคุณภาพดีเทียบเท่า หรือดีกว่าส้มโอพันธุ์ที่เป็นต้นแม่ ผลผลิตมีรสชาติดี ไม่มีรสขม เปลือกผลหนา เหมาะสำหรับเก็บได้เป็นเวลานาน และทนการกระแทกจากการขนส่ง
ปี 2550-2555 นำสายต้นที่ได้ 10 สายต้นไปปลูกเปรียบเทียบร่วมกับพันธุ์การค้า 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ทองดี และพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย พบว่าสายต้นท่าชัย 32 เจริญเติบโต และให้ผลผลิตดีทั้ง 2 สถานที่ ปี 2556 ขยายพันธุ์ส้มโอท่าชัย 32 โดยวิธีการเสียบยอดจำนวน 120 ต้น เพื่อนำไปทดสอบในแปลงเกษตรกรและศูนย์วิจัยในแหล่งปลูก 3 แหล่ง ได้แก่ แปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร แปลงเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย
ปี 2557-2564 ปลูกทดสอบสายต้นส้มโอจากการเพาะเมล็ดที่ผ่านการคัดเลือก คือ สายต้น ท่าชัย 32 ร่วมกับพันธุ์ทองดี ที่แปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร แปลงเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย พบว่า สายต้นท่าชัย 32 เจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง โดยให้ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ เนื้อกุ้งสีขาวอมชมพูอ่อน ลักษณะกุ้งนิ่ม รสชาติหวาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ในขณะที่พันธุ์ทองดีซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ มีขนาดผลค่อนเล็ก โดยสายต้นท่าชัย 32 ทั้งในด้านการเจริญเติบโต ผลผลิตและคุณภาพการบริโภคได้รับการยอมรับจากเกษตรกรและผู้บริโภค ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรจึงได้เสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร พิจารณาให้ส้มโอสายต้นท่าชัย 32 เป็นพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 โดยใช้ชื่อพันธุ์ว่า “ส้มโอพันธุ์ กวก.พิจิตร 1”
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวด้วยว่า ส้มโอพันธุ์ กวก.พิจิตร 1 มีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตสูง 1,225 กิโลกรัม/ไร่ จำนวนผล 1,080 ผล/ไร่ และน้ำหนักผล 1.16 กิโลกรัม/ผล ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ทองดี ที่ให้น้ำหนักผลผลิต 743 กิโลกรัม/ไร่ จำนวนผล 720 ผล/ไร่ และน้ำหนักผล 0.94 กิโลกรัม/ผล รวมทั้งยังมีรสชาติหวาน ลักษณะผลกลมสูง เนื้อกุ้งสีขาวอมชมพูอ่อนและฉ่ำน้ำน้อย โดยเกษตรกรควรเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีอายุ 210-225 วัน นับจากเริ่มติดผลจนกระทั่งเก็บเกี่ยวจะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและรสชาติดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ทองดี จะเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีอายุ 225-240 วัน ในปี 2566 มีต้นแม่พันธุ์อายุ 7 ปี จำนวน 20 ต้น พร้อมจะขยายพันธุ์ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 กิ่ง/ปี
ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-5699-0035.