"พีระพันธุ์" เผย 'กฤษฎีกา' ตีความบอร์ด กฟผ. ชี้ขาดตั้งผู้ว่าการคนใหม่ ยันไม่คิดค้าน "เทพรัตน์" นั่งผู้ว่าฯ ระบุ มีหน้าที่นำเสนอ ครม. เท่านั้น
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า กรณีที่คณะกรรมการ กฟผ. ชุดเก่าเสนอชื่อ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ ยืนยันว่า กระทรวงพลังงานไม่เกี่ยวข้องกับการสรรหาฯ หรือ การเลือกผู้ว่าฯ กฟผ. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่มีหน้าที่อนุมัติแต่มีหน้าที่ส่งเอกสารให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเท่านั้น
"เราเป็นเสมือนพนังานไปส่งเอกสาร ให้ครม. เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เราไม่มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งตามกฎหมายเรื่องนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตี และรัฐมนตรีว่าการกระะทรวงพลังงาน ท่านเดิมได้นำเข้าครม. วันที่ 2 พ.ค. 2566 ซึ่งช่วงนั้นอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง ดังนั้น ครม. จึงอนุมัติแบบมีเงื่อนไข"
สำหรับเงื่อนไขของ ครม. คือ ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบด้วย แต่ต่อมา กกต. ได้แจ้งกลับมาว่าไม่เห็นชอบ ซึ่งก็แปลว่า ไม่ผ่าน ต่อมา ครม. ได้ขอให้ กกต.พิจารณาอีกครั้ง ปรากฏว่าเรื่องได้หายเงียบไปจนเลือกตั้งเสร็จ ดังนั้น เมื่อกกต. ไม่เห็นชอบก็ถือว่าไม่ผ่าน ครม.
อย่างไรก็ตาม ต่อมา กกต. ได้ส่งหนังสือกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) วันที่ 6 ก.ย. 2566 โดยเนื้อหาใจความระบุว่า ตามที่ครม. ได้เคยส่งเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. มา ให้ทบทวน บัดนี้ เมื่อได้รัฐบาลใหม่ จึงไม่อยู่ในกรอบที่ กกต. จะพิจารณา จึงได้ส่งเรื่องคืนดังนั้น สลค. จึงส่งเรื่องมาที่กระทรวงพลังงาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งมาถึงตนวันที่ 27 ก.ย 2566
"เมื่อตนได้รู้เรื่องทั้งหมดก็ได้เชิญนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กับผู้ที่เกี่ยวข้องมาหรือ เพราะโดยหลักการที่ กตต.ไม่เห็นชอบ รวมถึงหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยตีความ และได้คำตอบว่าต้องให้คณะกรรมการ กฟผ. ยืนยันรายชื่อ เสนอ ครม.ชุดใหม่ ซึ่งทำให้ กฟผ.ต้องยืนยันเพื่อให้กระทรวงพลังงานนำชื่อเข้า ครม.ต่อไป"
ส่วนกรณีที่ กรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่มีการลาออก ต่างจากกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ลาออกยกชุด ตนขอยืนยันว่าจะไม่เข้าไปยุ่ง ซึ่งในประเด็นด้วยมารยาทว่าเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว บอร์ดบริหารของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจควรจะลาออกแล้วแต่งตั้งใหม่หรือไม่นั้น ส่วนตัวก็เข้าใจว่าน่าจะเป็นแบบนั้น แต่สำหรับ ปตท. เอง ยืนยันอีกครั้งว่าจะไม่เข้าไปยุ่งอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ต.ค. 2566) ปตท. จะมีการประชุมกรรมการฯ โดยประเด็นที่น่าจับตาพิเศษ คือจะยังคงมีวาระการปรับเปลี่ยนประธานและคณะกรรมการบริหารหรือไม่