ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ไทย - มาเลเซีย ร่วมผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจ พัฒนาพื้นที่ชายแดน พร้อมแก้ไขสถานการณ์ใน จชต.
20 ต.ค. 2566

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในโอกาสเดินทางเพื่อประชุมหารือร่วมกับ Datuk Seri Dr.Wee Ka Siong ประธานสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน (Malaysian Chinese Association) ถึงการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย กับรัฐชายแดนของประเทศมาเลเซีย ที่มีอาณาเขตติดกับประเทศไทย โดยมี นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กรมประชาสัมพันธ์) ผู้แทนสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ผู้อำนวยการการกอง / กลุ่มงาน ศอ.บต. ตอลดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

การประชุมครั้งนี้ มีการหารือความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย โดยรัฐบาลมีเป้าหมายในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในประเทศทุกกลุ่มที่ต้องมีอาชีพ มีงานทำและมีรายได้ที่เพียงพอเหมาะสม หลุดพ้นจากความยากจน ประเทศมาเลเซียนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะเป็นโอกาสที่สำคัญที่ต้องเชื่อมโยงภาคการตลาดให้เกิดขึ้น เรื่องนี้ได้มีการหารือร่วมกันกับ ดาโต๊ะ วี กาเชียง (Datuk Seri Wee Ka Siong) ประธานสมาคมจีนประเทศมาเลเซีย หรือ Malaysia China Association ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศมาเลเซีย และยังเคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันโครงการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ระบบราง เชื่อมสองฝั่งทะเลประเทศมาเลเซียที่ชื่อว่า โครงการ “อีสต์ โคสต์เรลลิ้งค์” (East Coast Rail Link : ECRL) จะเริ่มวิ่งจากท่าเรือแคลง (Port Klang) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศมาเลเซีย อันมีที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ข้ามคาบสมุทรไปยังรัฐกลันตันทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2026 หรืออีกราว 5 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าโครงการระบบรางที่ตัดผ่านหลายรัฐของมาเลเซีย ประกอบด้วยรัฐกลันตัน ตรังกานู ปาหัง และสลังงอร์ ซึ่งจะช่วยยกระดับการเชื่อมต่อและนำการเติบโตแบบสมดุลมาสู่ประเทศมาเลเซียมากขึ้นผ่านการเชื่อมโยงภูมิภาคด้อยพัฒนาบนชายฝั่งตะวันออกเข้ากับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจบนชายฝั่งตะวันตก และแน่นอนว่าหากประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงระบบรางของประเทศเข้ากับโครงการนี้ได้ ก็จะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ ยังมีการหารือร่วมกันในความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษกิจ โดยมีความสนใจร่วมกันที่จะพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคม 9 ประเด็น ได้แก่ ธุรกิจอาหารแปรรูปฮาลาลและร้านค้าอาหารไทยมาเลเซีย ไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบการเกษตร ผักผลไม้และปศุสัตว์รวมไปถึงการแปรรูป มาเลเซียมีความพร้อมด้านมาตรฐานฮาลาล และตลาดมาเลเซียก็มีกำลังซื้อสูง บริเวณชายแดนทั้งสองประเทศต้องร่วมลงทุนธุรกิจอาหารแปรรูปฮาลาลร่วมกันเพื่อส่งออกไปทั้งมาเลเซียและตลาดตะวันออกกลาง โดยให้มีการลงทุนในเขตอุตสาหกรรมทั้งสองประเทศ ได้แก่ เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารทะเลแปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป อาหารไทยสำเร็จรูปพร้อมทาน รวมทั้ง ให้ส่งเสริมการเปิดร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซียถูกต้องและมีมาตรฐานและการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย , ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกผลไม้และปศุสัตว์ มีข้อเสนอให้จังหวัดนราธิวาส โดยอำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ ตั้งศูนย์ค้าส่งค้าปลีกผลไม้และปศุสัตว์ในพื้นที่ชายแดน เพื่อกระจายสินค้าต่าง ๆ สู่ผู้บริโภคชาวมาเลเซีย ทำให้เกิดการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ต้องมีระบบมาตรฐานที่ทันสมัยทั้ง GAP GMP และฮาลาลรวมไปถึงการตรวจสอบย้อนกลับได้ทำให้สินค้าเกษตรจากภูมิภาคอื่น ๆ ของไทย สามารถมาขายได้ที่ศูนย์กลางค้าส่งค้าปลีกที่ภาคใต้ , ธุรกิจยางและผลิตภัณฑ์ ประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบยางพาราธรรมชาติ เป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านไร่ ในขณะที่ประเทศมาเลเซียมีความพร้อมด้านการแปรรูป แม้ว่าจะมีโครการ Rubber City ของทั้งสองประเทศตรงเขตชายแดนก็ตาม แต่ความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ ยังมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น มาเลเซียซื้อวัตถุดิบน้ำยางข้นไทยเพื่อไปผลิตถุงมือยาง ดังนั้น จึงมีข้อเสนอเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราระหว่างไทยและมาเลเซียที่ต้องร่วมกันพัฒนาสร้างมูลค้าเพิ่มของยางให้มากกว่านี้ รวมไปถึงด้านนวัตกรรมยางพาราชายแดน และต้นแบบผลิตภัณฑ์ยางพาราชายแดนร่วมกัน และความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยและภาคธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมการพัฒนายางพาราไปสู่สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง , ธุรกิจเขตอุตสาหกรรม โดย 5 รัฐตอนเหนือมาเลเซียมีระเบียงเศรษฐกิจใหญ่ คือ 1. East Coast Economic Region (ECER) เป้าหมายต้องการเป็น “ภูมิภาคแห่งศักยภาพอุตสาหกรรม” ครอบคลุมรัฐกลันตัน ตรังกานู และปาหัง คิดเป็น 51% ของพื้นที่เพนนินซูลา เน้นอุตสาหกรรมเกษตร การศึกษา อุตสาหกรรม น้ำมัน แก็ส ปิโตรเคมีและท่องเที่ยว ในขณะที่ Northern Corridor Economic Region (NCER) เป้าหมายเป็น “ภูมิภาคเศรษฐกิจระดับเวิรด์คลาส” ประกอบด้วย รัฐปะริส ปีนัง เคดะห์ และเประก์ เน้นเกษตรพัฒนาบุคลากร อุตสาหกรรม และท่องเที่ยว มีโครงการเมืองยางพาราเรียกว่า “Kota Putra Rubber City : หรือ “South East Asia First Rubber Industrial Hub” ในรัฐเคดะห์ ซึ่งเจ้าของโครงการคือ บริษัท Tradewinds Plantation Bhd : TPB หรือ TWS ที่เป็นหนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ของมาเลเซีย ทำทั้งปาล์มน้ำมันและยางพาราครบวงจร ซึ่งผ่านทางบริษัทลูกที่มีความชำนาญเรื่องยางพาราครบวงจรที่ชื่อว่า “MARDEC” มีการตั้งเป้าหมายรัฐเคดาห์ เป็น “อุตสาหกรรม 4.0 ของมาเลเซีย” จึงเป็นโอกาสของจังหวัดชายแดนภาคใตฺ้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชายแดนที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ที่จะเชื่อมโยงและร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการบริหารของรับบาลปัจจุบัน , ธุรกิจการค้าออนไลน์ชายแดน ปัจจุบันการค้าส่วนใหญ่ระหว่างไทยกับมาเลเซียเป็นการค้าแบบปกติ คือขนส่งสินค้าผ่านแดนไปมาระหว่างกัน แต่ยังไม่มีการค้าแบบออนไลน์ชายแดนอย่างเต็มรูปแบบ แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีแพลตฟอร์มดังๆ เช่น Lazada เหมือนกันก็ตาม แต่เป็นลักษณะ “ต่างคนต่างทำ” หากธุรกิจหรือคนมาเลเซียบริเวณชายแดนต้องการซื้อสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าจังหวัดชายแดนไทยผ่านทางออนไลน์ คำสั่งซื้อจะถูกส่งเข้ามาที่กรุงเทพ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและค้าขนส่งเพิ่มขึ้น ส่วนการซื้อสินค้าผ่านทางโซเซียลมีเดียจากบุคคลบริเวณชายแดนไทยก็ต้องนำสินค้าไทยข้ามไปส่ง และต้องเปิดบัญชีธนาคารของฝั่งมาเลเซียไว้จึงจะโอนเงินได้ ทั้งคนไทยและมาเลเซียหันซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อให้ธุรกิจการค้าออนไลน์ชายแดนเฟื่องฟูสองประเทศต้องทำ คือ

1. การนำแพลตฟอร์มที่มีใช้กันสองประเทศให้เชื่อมต่อกันเป็นแพลตฟอร์มชายแดนใหม่ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้า

และ 2. สร้างคลังสินค้าชายแดนร่วมกันเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเอาสินค้ามาจากกรุงเทพ โดยสถานที่ตั้งควรอยู่ที่จังหวัดสงขลา เพราะมีด่านที่มีการค้าสูงและเส้นทางการขนส่งสะดวกที่สุด , ธุรกิจข้าวสุขภาพ มาเลเซียไม่อนุญาตให้นำเข้าข้าวของไทยจากทางบก แต่ให้นำเข้าข้าวได้เฉพาะทางเรือ ทำให้ข้าวไทยต้องใช้เวลาในการขนส่งนานกว่าทางบก โดยที่จังหวัดนราธิวาสมีการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก หากสามารถดำเนินนโยบายการค้าข้าวได้อย่างเสรีเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายความมั่นคงทางอาหารของประเทศมาเลเซียที่ต้องการเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศแต่สินค้าข้าวควรมาจากภายในประเทศ และเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมไปถึงเพิ่มระดับรายได้ให้แก่เกษตรกร ก็จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและใกล้เคียงอีกทั้ง มาเลเซียยังไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอกับความต้องการได้ทั้งหมด รวมไปถึงจำนวนร้านอาหารไทยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการข้าวไทยที่มีคุณภาพและสุขภาพจึงยังมีโอกาขยายตัวได้อีกมาก แต่ไทยต้องเร่งการเจรจาเพื่อให้เกิดโอกาสการจำหน่ายให้มากขึ้น , ธุรกิจการขนส่งเพื่อรายย่อย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการรายย่อยสามารถส่งสินค้าข้ามแดนไทย-มาเลเซียได้ง่าย โดยให้ผู้ให้บริการ อย่างไปรษณีย์ไทย หรือขนส่งเอกชน เช่น J&T Express, KERRY สามารถส่งสินค้าจากพื้นที่ชายแดนไปยังผู้รับได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านไปยังเมืองหลวงของแต่ละประเทศหรือจุดรวมสินค้าอื่น ๆ ที่อยู่ห่างออกไป เพื่อขยายโอกาสการค้าสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย หรือ การค้าออนไลน์ โดยการบันทึกข้อตกลงร่วมกันของไทยและมาเลเซีย , ธุรกิจเชิงสุขภาพและความงาม ประเทศมาเลเซีย มีความสนใจการดูแลสุขภาพด้วยวิถีไทยอย่างเช่น การนวดไทย การทำสปาไทย เป็นอย่างมาก ดังนั้น มีข้อเสนอที่จะพัฒนาธุรกิจดังกล่าวให้เกิดความเป็นรูปธรรม และเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ และ ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ประเทศมาเลเซียถือเป็นประเทศตัวอย่างที่ดีที่มีการจัดการศึกษาเพื่อเข้าสู่โลกอาชีพที่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดการศึกษาที่คล้ายคลึงกับการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น การแลกเปลี่ยนทัศนคติและประสบการณ์การบริหารการศึกษาของทั้ง 2 ประเทศ จะเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ประเทศไทย สามารถปรับหลักสูตรการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นต้นแบบการพัฒนาเฉพาะ และการสร้างโอกาสให้กับนักเรียนไทยในการเดินทางเข้าไปศึกษาต่อในสาขาวิชาของสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศมาเลเซียในโอกาสต่อไป

และได้หารือในประเด็นความร่วมมือโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาร่วมกันของประเทศไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะการเร่งรัดผลักดันการก่อสร้างโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และข้อเสนอให้ประเทศมาเลเซีย เร่งรัดการพิจารณาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อให้เกิดโอกาสการเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมขนส่งของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะนำไปสู่การอำนวยความสะดวกในการข้ามแดนและการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าและบริการต่าง ๆ ของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะพัฒนาร่วมกันในระยะต่อไปในฐานะมิตรประเทศที่ดีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าไทยและมาเลเซีย ยังมีศักยภาพที่จะร่วมมือกันเพิ่มเติมได้อีกมากด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งฝ่ายมาเลเซียชื่นชมการพลิกฟื้นด้านการท่องเที่ยวของไทย ทั้งสองฝ่ายเห็นควรให้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย - มาเลเซีย อย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันความร่วมมือทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยไทยยินดีที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียมาท่องเที่ยวไทยในลำดับต้น และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ด้านความร่วมมือในประเด็นสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความมั่นคง รองนายกรัฐมนตรียินดีที่มาเลเซียให้การสนับสนุนการส่งเสริมสันติภาพเเละการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลจะติดตามเเละประสานความร่วมมืออย่างต่อเนื่องต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...