รัฐมนตรีพลังงาน เตรียมลงพื้นที่เกาะพะลวย จ.สุราษฎ์ธานี ติดตามปัญหากังหันลมผลิตไฟฟ้าโครงการ “Green Island” แห่งแรกของประเทศไทย หลังชาวบ้านร้องเรียนเครื่องชำรุด ใช้งานไม่ได้มานานและเสียงดังรบกวน จึงต้องการให้ถอดทิ้งเครื่องกังหันลมที่ติดตั้งมากว่า 10 ปี ด้วยงบเกือบ 10 ล้านบาท ด้านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เตรียมส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเร่งด่วน ก่อนรายงานปลัดและรัฐมนตรีพลังงานต่อไป
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงปัญหากังหันลมผลิตไฟฟ้าที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่าชาวบ้านที่เกาะพะลวยเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานถอดกังหันลมผลิตไฟฟ้าออกจากเกาะพะลวย เนื่องจากกังหันลมหลายตัวชำรุดและใช้งานไม่ได้มานานแล้ว ประกอบกับเครื่องมีเสียงดังรบกวน ซึ่งใน 1-2 สัปดาห์นี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามข้อมูลข้อเท็จจริงว่ากังหันลมเกิดการชำรุดจากสาเหตุใด พร้อมหาแนวทางแก้ไข ก่อนจะรายงานปลัดกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไป
อย่างไรก็ตามนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทราบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว และระบุว่าจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบด้วยตัวเองในเร็วๆ นี้
สำหรับการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่เกาะพะลวยนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกันสร้างโครงการ “เกาะต้นแบบพลังงานสะอาด” หรือ “Green Island” แห่งแรกของประเทศไทยขึ้น ในพื้นที่เกาะพะลวย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีการติดตั้งทั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และกังหันลมผลิตไฟฟ้า ซึ่งกังหันลมมีการติดตั้งทั้งสิ้น 68 ตัว โดยใช้งบเกือบ 10 ล้านบาท
ทั้งนี้ภาครัฐดำเนินการติดตั้งและมอบให้เทศบาลในพื้นที่ดูแล ซึ่งติดตั้งมานานเกือบ 10 ปีแล้ว ดังนั้นเป็นไปได้ที่อุปกรณ์จะชำรุด ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้ชำรุดตั้งแต่วันแรกที่ติดตั้ง เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ พพ. ไปตรวจสอบหลังติดตั้งเสร็จแล้วและพบว่าใช้งานได้ตามปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านมานาน กังหันลมอาจจะชำรุดด้วยเหตุผลต่างๆ รวมถึงกรณีต้นยางพาราขึ้นบดบังทิศทางลมก็เป็นไปได้ ซึ่ง พพ.กำลังจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเร็วๆ นี้
สำหรับการติดตั้งกังหันลมภายใต้งบของกระทรวงพลังงานที่ผ่านมา นอกจากจะติดตั้งที่เกาะพะลวยแล้ว ยังมีพื้นที่อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปกติ พพ. จะมอบให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลต่อ อย่างไรก็ตาม พพ. มีงบประเมินและติดตามโครงการต่างๆ ดังนั้น พพ. ได้ตรวจสอบการใช้งานกังหันลมทุกพื้นที่ ที่ใช้งบ พพ. ดำเนินการเป็นประจำอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะนำเรียนอธิบดี พพ. ถึงผลการติดตามและประเมินผลกังหันลมผลิตไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ต่อไป