นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ และคณะทำงานด้านน้ำ ดร.ศุภชัย ศรีหล้า อดีต ส.ส. อุบลราชธานี และด้านเกษตร นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร อดีต ส.ส. นครสวรรค์ แถลงข้อเสนอแนะจากกรณีคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานฯ
สำหรับประเด็นที่อยู่ในความสนใจของเกษตรกรนั้น ทีมนโยบายฯ ขอแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า “ไม่เห็นด้วยต่อการเรียกเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรรายย่อย” และขอเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับมาตรา 39 ที่ระบุว่า จะมีการเก็บเงินจากการใช้น้ำจากเกษตรกรที่ปลูกเพื่อการพาณิชย์นั้นเป็นอย่างไร เพราะในปัจจุบันมีเกษตรรายย่อยที่รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน และเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาลเองด้วยซ้ำไป
ทีมนโยบาย พรรคฯ ได้มีการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำมาโดยตลอด พบว่า แท้จริงแล้วประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศไทยแต่ละปี มีปริมาณมากกว่าปริมาณน้ำที่ต้องใช้ ดังนั้นต้นตอของปัญหาเรื่องน้ำอยู่ที่ “ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ” ที่บางช่วงเยอะเกินไปจนท่วม หรือน้อยเกินไปจนแล้ง
ทีมนโยบาย พรรคฯ ขอเสนอแนวคิดต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้
1. ขอให้รัฐบาล แถลงความชัดเจนว่าจะไม่เก็บค่าน้ำจากเกษตรกรรายย่อย รวมถึงชี้แจงนิยามของเกษตรกรรายย่อย และเกณฑ์ที่ชัดเจนของเกษตรกรที่ปลูกเพื่อการพาณิชย์ตามมาตรา 39 ของร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ
2. ขอให้รัฐบาล นำรายได้จากค่าน้ำของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ มาเป็นรายได้ตรง (Earmarked Tax) ต่อการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน การอนุรักษ์แหล่งน้ำ และการสนับสนุนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ขอให้รัฐบาลปฏิรูปกฎหมายน้ำควบคู่กับการปฏิรูปองค์กรด้านน้ำ เพื่อให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำทั้ง 33 หน่วยงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนผู้เป็นเกษตรกรอย่างแท้จริง
4. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการขยายพื้นที่ชลประทานที่ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 30 ของพื้นที่เพาะปลูกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน โดยจัดให้มีระบบการเก็บกักน้ำที่ทั่วถึงและเพียงพอ
5. ขอให้รัฐบาลพิจารณาเช่าพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในฤดูน้ำหลากเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ และใช้น้ำจากพื้นที่นี้สำหรับการเกษตรบริเวณใกล้เคียง