ศึกษาวิจัยคุณภาพน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง พร้อมจัดกิจกรรมเรียนรู้ สร้างผู้พิทักษ์สายน้ำรุ่นเยาว์ ให้กับนักเรียนโรงเรียนวัดวังศาลา จังหวัดกาญจนบุรี
วันนี้ 1 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์ดร.นิธิมา สุทะพินธ์ อาจารย์ด้านภาษาอังกฤษ ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เปิดเผยว่า คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งนำโดย อาจารย์ ดร.จุฑามาส แก้วสุข หัวหน้าทีมวิจัยและดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ พร้อมทีมคณาจารย์ในสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์ จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์,สาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ และสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้ร่วมดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “Participatory Water Quality Monitoring for Sustainable Development” จาก Worldwide Universities Network โดยงานวิจัยนี้เป็นการวิจัยร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดลกับ University of York ประเทศอังกฤษและ Maastricht University ประเทศเนเธอแลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์การศึกษาวิจัยเพื่อศึกษาคุณภาพน้ำลุ่มน้ำแม่กลองและผลกระทบของคุณภาพน้ำแม่กลองที่มีต่อชุมชน รวมทั้งสื่อสารและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการรักษาคุณภาพน้ำให้แก่ชุมชน ผ่านการจัดกิจกรรมชุดการเรียนรู้ “ผู้พิทักษ์สายน้ำ” (Water Saviors Learning Kit) ให้กับนักเรียน
โดยเริ่มต้นจากโรงเรียนวัดวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ธันวาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาจนถึงสิ้นสุดโครงการ เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมี Mr. Agar Hal นักศึกษาแลกเปลี่ยนจากUniversity of York ประเทศอังกฤษ เดินทางมาร่วมเยี่ยมชมกิจกรรมนี้ด้วย
สำหรับการดำเนินกิจกรรมในโครงการ ประกอบด้วย กิจกรรมชุดการเรียนรู้ “ผู้พิทักษ์สายน้ำ” (Water Saviors Learning Kit) ให้กับนักเรียนโรงเรียนวัดวังศาลา เพื่อให้นักเรียนสามารถระบุสาเหตุของปัญหาคุณภาพน้ำ เสนอแนวทางแก้ปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำของชุมชนที่อาศัยอยู่ได้ในชุมชนที่ตนอาศัยได้ เช่น กิจกรรม “รู้จักสายน้ำ” รู้จักคุณลักษณะที่สำคัญของน้ำสำหรับการใช้ประโยชน์ประเภทต่าง ๆ เรียนรู้ดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำ เพื่อประเมินคุณภาพน้ำในชุมชน มีความตระหนักถึงปัญหาและแหล่งมลพิษของน้ำในชุมชน เช่น กิจกรรม “กำเนิดผู้พิทักษ์สายน้ำ”(Design Thinking) การรวบรวมประเด็นปัญหาของมลพิษทางน้ำของชุมชน ทำให้นักเรียนสามารถออกแบบการรณรงค์เพื่อรักษาคุณภาพน้ำ เช่น กิจกรรม “ร่างแผนการพิทักษ์สายน้ำ”(Project Brief Writing) การฝึกปฏิบัติการให้นักเรียน สามารถดำเนิน โครงการการรณรงค์เพื่อรักษาคุณภาพน้ำที่ออกแบบไว้ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนเสร็จสิ้นกิจกรรม ซึ่งนักเรียนจะได้ประสบการณ์และเรียนรู้ในการร่วมกิจกรรมรณรงค์เพื่อรักษาคุณภาพน้ำ
พร้อมทั้งมีการประกวดนำเสนอโครงงาน ในกิจกรรม “วันประกาศแผนการพิทักษ์สายน้ำ”(3 min. Project Pitching Day) ฝึกปฏิบัติการให้นักเรียนได้นำเสนอผลงานรณรงค์แบบพิชชิ่ง 3 นาที (pitching) ในที่ชุมชน หลังจากนั้นนักเรียนก็จะดำเนินโครงการรณรงค์พิทักษ์สายน้ำของตนเองไปใช้สื่อสารความเข้าใจให้แก่ชุมชนเกี่ยวกับการรักษาคุณภาพน้ำและทำกิจกรรมรักษาคุณภาพลุ่มน้ำแม่กลองกับชุมชน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ สรุปผลการดำเนินโครงการและรายงานผลต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้นักเรียนของโรงเรียนวังศาลา มีความสามารถจัดกิจกรรมโครงการการรณรงค์รักษาคุณภาพน้ำให้แก่ชุมชนวังศาลาได้ต่อไป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการให้กำเนิด “ผู้พิทักษ์สายน้ำ” (Water Saviors) รุ่นเยาว์ ให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
//////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน