ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผอ.ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 3 ปี 2566 เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่หดตัวจากผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง และรายได้เกษตรกรที่กลับมาหดตัว
ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผอ.ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจอีสานหลังปรับฤดูกาลแล้ว กลับมาหดตัวจากไตรมาสก่อน แม้มีปัจจัยพิเศษจากวันหยุดยาวหลายช่วงช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ยังไม่สามารถชดเชยจากกำลังซื้อที่เปราะบาง จากค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้เกษตรที่ลดลง ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวตามเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน การอุปโภคบริโภคที่หดตัวจากผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง และรายได้เกษตรกรที่กลับมาหดตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ตามคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรแปรรูปที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตเพื่อการส่งออกยังคงหดตัวจากเศรษฐกิจโลก
“ภาคอีสาน มีข้อได้เปรียบ เนื่องจากเป็นภาคเดียวที่มีประชากรสูงที่สุดมีพื้นที่เยอะที่สุด ผลิตอาหารให้กับประเทศเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของประเทศนี่คือพื้นฐานที่มีข้อดีหลายอย่างเพียงแต่ว่าต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดการปรับตัวไปสู่การผลิตใหม่ๆการเกษตรสมัยใหม่ ที่ผ่านมาจะเห็นการปรับตัวไปทำเกษตรแบบใหม่ smart farm ไปทำการค้าแบบใหม่ๆ ทำเกษตรที่แบบทำได้หลายอย่างหลากหลายมีระบบการจัดการที่ดีแต่เราจะทำยังไงที่จะทำให้เกิดในขยายในวงกว้าง”
การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง (ปรับฤดูกาล) ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันในปีก่อนและไตรมาสก่อนจากการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในหลายช่วงของวันหยุดยาว รวมทั้งการจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มากขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น งานอีเว้นต์ งานคอนเสิร์ต และเทศกาล งานบุญประเพณี ช่วยกระตุ้นให้อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 4 ปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจอีสานโดยรวมหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับเศรษฐกิจฐานรากยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ปัจจัยพิเศษจากวันหยุดยาวหลายช่วงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ทยอยปรับดีขึ้นตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ (ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน) จะช่วยพยุงการบริโภคได้ในระยะต่อไป