ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เกษตรย่านตาขาว จังหวัดตรัง ลงพื้นที่สาธิตวิธีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้แก่เกษตรกร
06 พ.ย. 2566

นายนนท์นภนต์ นาพอ เกษตรอำเภอย่านตาขาว มอบหมายให้นางแพรวพรรณ ทองพิทักษ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ลงพื้นที่สาธิตวิธีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้กับนางวีรยา นุ่นแก้ว ณ บ้านเลขที่ 208 หมู่ที่ 2 ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เพื่อใช้ป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคพืช

สำหรับเชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราชั้นสูงเจริญได้ดีในดินที่มีเศษซากพืช ซากของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และวัสดุอินทรีย์ตามธรรมชาติ เชื้อราไตรโคเดอร์มา สามารถควบคุมโรคพืชในดินได้หลายชนิด เช่น เชื้อราไฟทอฟเทอรา (Phytophthora spp.) สาเหตุโรครากโคนเเน่า เชื้อราพิเทียม (Pythium spp.) สาเหตุโรคเมล็ดเน่า โรคโคนเน่าระดับดิน เชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) สาเหตุโรคโรคเหี่ยว เชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium spp.) สาเหตุของโรคโคนเน่า โรคเหี่ยวของผัก เชื้อราไรซ็อกโทเนีย (Rhizoctonia solani) สาเหตุโรคเน่าระดับดินของพืชผัก โรคใบติดของทุเรียน โรคกาบใบแห้งของข้าว ฯลฯ

วิธีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา ให้หุงข้าวใช้ข้าวสาร 3 ส่วน และน้ำ 2 ส่วน กดสวิตซ์ จากนั้นเมื่อหม้อข้าวดีดให้ถอดปลั๊กทันที จะได้ข้าวกึ่งสุกกึ่งดิบ ลักษณะเมล็ดข้าวข้างนอกเมล็ดปริ ส่วนข้างในเป็นไตสีขาว ซุยข้าวให้เมล็ดข้าวร่วน หรือใช้ลังถึงนึ่ง โดยการแช่ข้าว 30 นาที และผึ่งข้าว 30 นาที จากนั้นนึ่งโดยนับจากหลังน้ำเดือนไม่น้อยกว่า 30 นาที ตักข้าวใส่ถุง ขณะยังร้อน ถุงละ ? กิโลกรัมพับปากถุงลงด้านล่าง ทิ้งไว้ให้ข้าวอุ่น ใส่หัวเชื้อไตรโคเดอร์มา หากเป็นหัวเชื้อน้ำ ใช้ประมาณ 5 หยด รัดยางตรงปากถุงให้แน่นโดยให้มีพื้นที่ว่างในถุงมากกว่าพื้นที่ใส่ข้าว เขย่าหัวเชื้อให้กระจายทั่วเมล็ดข้าว เจาะรูใต้ยางที่มัดถุง โดยใช้เข็มสะอาดเจาะประมาณ 30 รู วางถุงข้าวในลักษณะแบนราบให้ข้าวแผ่กระจายทั่วถุง และไม่วางถุงข้าวซ้อนทับกัน ควรวางบริเวณที่มีแสงสว่าง อากาศถ่ายเท ไม่มีมดและสัตว์อื่น ๆ ประมาณ 5 – 7 วัน เชื้อราจะเจริญปกคลุมเมล็ดข้าว โดยในการผลิตขยายทุกขั้นตอนควรทำความสะอาดโต๊ะและอุปกรณ์ด้วยแอลกอฮอล์ 70 % และผู้ปฏิบัติงานควรฉีดพ่นแอลกอฮอล์ 70% ทุกครั้งก่อนทำการผลิตขยาย

ซึ่งเชื้อราไตรโคเดอรมามีกลไกการทำงานในการกำจัดโรคพืช ดังนี้ 1.แข่งขันกับเชื้อราสาเหตุโรคพืช 2.เป็นปรสิตกับเชื้อราสาเหตุโรคพืช 3.สร้างสารยับยั้งหรือทำลายเชื้อราสาเหตุโรคพืช 4.ชักนำให้พืชมีความทนทาน โดยได้แนะนำวิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในอัตราส่วนดังนี้ ทางดิน ผสมเชื้อสด 1 กิโลกรัม : รำละเอียด 4 กิโลกรัม : ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม โรยรอบโคนต้น ต้นละ 1 กิโลกรัม หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำสะอาด 100-200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง ในกรณีพืชผักแนะนำให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสดคลุกเมล็ดก่อนนำไปปลูก โดยผสมเชื้อสด 10 กรัม (1 ช้อนแกง) : เมล็ด 1 กิโลกรัม : น้ำ 10 ซีซี (1 ช้อนแกง) เขย่าให้เชื้อสดคลุกเคล้าจนติดผิวเมล็ด นำเมล็ดผึ่งลมให้แห้งหรือใช้ปลูกได้ทันที

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...